ศก.ไทยเผชิญความเสี่ยงสูง กกร.ร้องรัฐใช้มาตรการการคลัง-การเงิน กระตุ้นเพิ่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 3, 2024 12:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คงประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยปีนี้ไว้ที่ 2.8-3.3% การส่งออก คาดว่าขยายตัว 2.0-3.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อ อยู่ที่ 0.7-1.2% แต่ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงสูง และข้อจำกัดเชิงโครงสร้างของไทย ทำให้การส่งออกฟื้นตัวได้ช้าและไม่ทั่วถึง อีกทั้งอุปสงค์ภายในประเทศยังอ่อนแอ ขณะที่ปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นในระยะข้างหน้า

ดังนั้น เศรษฐกิจไทยจึงต้องการแรงกระตุ้นเพิ่มเติม จากทั้งนโยบายการคลัง ในการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และมาตรการกระตุ้นอื่นๆ รวมทั้งนโยบายการเงิน ซึ่งจะเป็นในรูปของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือการปรับลดค่าธรรมเนียม FIDF อย่างที่เคยทำในอดีต ซึ่งจะช่วยลดภาระทางการเงินให้กับภาคครัวเรือนและธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว

กกร. ระบุว่า สินค้าส่งออกสำคัญของไทยหลายรายการ อาทิ รถยนต์สันดาป ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ และผลิตภัณฑ์พลาสติก ชะลอตัวลงจากปัจจัยทั้งระยะสั้นและระยะยาว ในขณะที่สินค้าที่ยังส่งออกได้ดี เป็นสินค้าที่มีความซับซ้อนต่ำ เช่น ยางรถยนต์ เนื้อสัตว์แปรรูป นอกจากนี้สินค้าบางประเภท เผชิญการแข่งขันจากสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้นภาคการผลิตไทย จำเป็นต้องเร่งปรับตัวให้สอดรับกับกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไป และบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น

อีกทั้งควรหาโอกาสสร้างความได้เปรียบทางการค้า โดยเลือกกลยุทธ์ที่เฉพาะ "เจาะจง" กับบริบทของแต่ละภาคการผลิตในแต่ละตลาดส่งออก ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถในการผลิต และความเข้มข้นในการแข่งขันในแต่ละอุตสาหกรรม

"ดัชนี MPI อยู่ในระดับต่ำกว่า 100 ต่อเนื่องมา 17 เดือนแล้ว สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้าง ทำให้การเติบโตต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เพราะผลิตสินค้าโบราณ หากดัชนีอยู่ในระดับต่ำนานๆ จะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจ" นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐให้พิจารณาเพิ่มกลไกในการสนับสนุนผู้ประกอบการให้เข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อสร้างฐานข้อมูลสำหรับประกอบการพิจารณาสินเชื่อตามกลไกตลาด โดยส่งเสริมให้จดทะเบียนนิติบุคคล โดยยกเว้นการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ 5-7 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาในการปรับตัว พร้อมปรับเงื่อนไขและเพิ่มทรัพยากรของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเกิดความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้มากขึ้น

นายเกรียงไกร กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำเป็นปัญหาที่สะสมมานานเพิ่งจะมาปะทุพร้อมๆ กันในช่วงรัฐบาลนี้ ประกอบกับการเบิกจ่ายงบประมาณปี 67 ล่าช้า ข้อเสนอของภาคเอกชนเรื่องใดที่ทำได้ก่อนรัฐบาลก็ดำเนินการทันที เช่น ปัญหาหนี้นอกระบบ หรือสินค้าออนไลน์ที่มีราคาถูกคุณภาพต่ำที่ต้องหามาตรการชะลอไม่ให้ทะลักเข้ามามาก

กกร.ขอขอบคุณรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาสินค้าด้อยคุณภาพที่เข้ามาทุ่มตลาดในประเทศไทย ซึ่งกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณามาตรการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับการซื้อสินค้านำเข้าออนไลน์ที่ไม่เกิน 1,500 บาท เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในการแข่งขันของผู้ประกอบการภายในประเทศ อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดการบูรณาการในการแก้ไขสินค้าไม่มีคุณภาพทั้งระบบ ภาครัฐควรพิจารณาปรับเงื่อนไขการใช้สิทธิประโยชน์เขตปลอดอากร (Free Zone) รวมทั้งเพิ่มความเข้มงวดการตรวจจับสินค้าสำแดงเท็จที่นำเข้าผ่านด่านศุลกากร โดยสนับสนุนเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการตรวจสแกนสินค้า ตลอดจนเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักให้ประชาชนทราบถึงผลกระทบของการใช้สินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ

*รอลุ้น กนง. 10 เม.ย.

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายว่า ตลาดคาดการณ์ว่า ในปีนี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะลดดอกเบี้ยลง 2 ครั้ง รวมลดลงประมาณ 0.50% แต่จะปรับลดในการประชุม วันที่ 10 เม.ย. นี้เลยหรือไม่ คงต้องรอติดตามการประชุมก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ