
นางนวลพรรณ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันภัย (MTI) เสวนาในหัวข้อ "Future Thailand: Soft Power" ว่า ประเทศไทยมีอาวุธที่สำคัญที่สุดที่เป็นซอฟท์พาวเวอร์ คือ "คนไทย" นักท่องเที่ยวมาเที่ยวไทยเพราะชอบคนไทย และใจที่พร้อมให้บริการ ดังนั้น จึงมองว่า โอกาสและความท้าทายของซอฟท์พาวเวอร์ จะถูกพัฒนาจากคนในประเทศเป็นหลัก ซึ่งไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ และขาดแคลนแรงงาน ดังนั้น ซอฟท์พาวเวอร์จำเป็นต้องพัฒนาไปพร้อมกับการพัฒนาคนรุ่นใหม่ อีกทั้งยังมีความท้าทาย คือต้องเชื่อมโยงทุกภาคส่วนตั้งแต่เล็กสุดไปใหญ่สุดด้วย อย่างไรก็ดี ซอฟท์พาวเวอร์จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีภาครัฐให้การสนับสนุน ลงทุนให้ถูกจุด ถูกเวลา หรือเรียกว่า Smart Power
นางนวลพรรณ มองว่า ตอนนี้มีคณะกรรมการซอฟท์พาวเวอร์ชุดใหญ่ขึ้นมาแล้ว ความท้าทาย คือ ทำอย่างไรให้คณะทำงานนี้อยู่ในยุทธศาสตร์แห่งชาติ และทำต่อไปเรื่อย ๆ หากมีการเลือกตั้งใหม่หรือมีการเปลี่ยนรัฐบาล คณะทำงานนี้ต้องดำเนินต่อไปได้ และต้องไม่คิดว่าผลงานนี้คือผลงานของคนใดคนหนึ่ง เมื่อเราปักหมุดหมายแล้ว ไม่ว่าอะไรจะเปลี่ยนไปก็ต้องเดินต่อไปให้ได้
"วันนี้ รัฐบาลน่าจะมาถูกทางแล้ว แต่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้ทำเพื่อสร้างภาพลักษณ์เพียงอย่างเดียว" นางนวลพรรณ กล่าวด้าน น.ส.มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Sea (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยมีของดีครบทั้ง 5F (Food, Festival, Film, Fighting และ Fashion) ซึ่งไทยควรนำมาใช้ให้มาเป็นประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ โดยมองว่า รัฐบาลเดินมาถูกทางแล้วที่กำหนดนโยบายซอฟท์พาวเวอร์ที่ชัดเจน แต่อาจยังต้องการบุคลากรเพิ่มเติม และยังต้องให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืนด้วย
น.ส.มณีรัตน์ มองว่า การจะทำซอฟท์พาวเวอร์ของไทยให้ประสบความสำเร็จ จะต้องอาศัยความเป็นที่นิยมของทั่วโลก แต่ของไทยมีข้อจำกัดเรื่อง "ความเหมาะสม" ทั้งวิธีการ หรือวัฒนธรรมต่าง ๆ ในการผลิตสิ่งหนึ่งขึ้นมา โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือการผลิตสื่อภาพยนตร์ ซึ่งมองว่าในจุดนี้ไทยอาจต้องเปลี่ยนไม้บรรทัดในการวัดเรื่องความเหมาะสม และปรับให้มีความทันสมัยมากขึ้น จึงจะประสบความสำเร็จในการทำซอฟท์พาวเวอร์ได้
นายรวิศ หาญอุตสาหะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยมีของดีหลายอย่าง แต่ยังขาดการเพิ่มคุณค่าในสิ่งที่มีอยู่แล้ว ซึ่งในส่วนของภาคเอกชนต้องพร้อมที่จะทำงานร่วมกัน แต่ก็ต้องมีภาครัฐให้การสนับสนุนด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในเรื่องซอฟท์พาวเวอร์ คือ ประเทศเกาหลีใต้ ในช่วงหนึ่งตลาดของเกาหลี จะขายสินค้าที่มาจากส่วนผสมเดียวกันในตลาด ซึ่งเป็นส่วนผสมที่ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เกิดจากการวางแผนร่วมกันว่าต้องการผลักดันส่วนผสมนี้ ด้วยการ "แบรนด์ดีไซน์" ให้ทุกบริษัท ที่ถึงแม้จะเป็นแบรนด์คู่แข่งกัน แต่ก็พร้อมใจในการใช้ส่วนผสมเดียวกัน และขายสินค้าออกมาในระยะเวลาเดียวกัน เช่น เครื่องสำอางจากใบบัวบก หรือ Cica ในช่วงหนึ่งเป็นที่นิยมมากในเกาหลี เป็นต้น