นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)คาดว่า ระบบธนาคารพาณิชย์จะสามารถปรับลดสัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ(NPL Gross)ลงให้เหลือไม่เกิน 2-3% ภายในปี 56 ซึ่งทาง ธปท.กำลังเร่งแก้ไขกฎหมาย 4 ฉบับ คือ กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง, กฎหมายข้อมูลเครดิต, กฎหมายบังคับคดี และ กฎหมายล้มละลาย ซึ่งเป็นอุปสรรคในการแก้ไขปัญหา NPL รวมทั้งจะมีการจัดตั้งศูนย์กลางจัดการ NPL และ NPA กลางของทุกธนาคาร และการสร้างกลไกทางการตลาด เพื่อเร่งลด NPL ให้เร็วขึ้น นายบัณฑิต กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลังจะมีแรงกดดันทำให้เกิดการเร่งตัวของ NPL และสินเชื่อมากขึ้น ทั้งภาวะเศรษฐกิจชะลอ ราคาน้ำมัน ภาวะเงินเฟ้อ รวมถึงเศรษฐกิจโลก แต่ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ก็พยายามระมัดระวังและควบคุมคุณภาพสินเชื่ออยู่แล้ว สำหรับความคืบหน้าการจัดทำแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินฉบับที่ 2 (2552— 2556) นายบัณฑิต คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนส.ค.นี้ และจะเสนอกระทรวงการคลังอนุมัติในก.ย. ก่อนจะประกาศใช้เดือนม.ค.52 โดยจะเน้นการลดต้นทุนการประกอบธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ ปัจจุบัน ในแผนฯฉบับใหม่คงไม่ได้เน้นการเปิดธนาคารพาณิชย์รายใหม่ เพราะจำนวนธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยปัจจุบันมีมากแล้ว หากมีผู้ประกอบการจากต่างประเทศเข้ามาก็ไมควรจะเป็นการประกอบธุรกิจธนาคาร แต่จะเป็นธุรกิจที่สนับสนุนธุรกิจการเงิน เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับธนาคารและเศรษฐกิจไทย "ไม่ได้ปิดกั้นผู้เล่นรายใหม่ แต่ต้องมี Value Added" นายบัณฑิต กล่าว