(เพิ่มเติม) หน่วยงานศก.ร่วมประเมินวิกฤติเลห์แมนฯกระทบภาคการเงิน-ธนาคารไทยน้อยมาก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 25, 2008 17:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ประธานคณะกรรมการติดตามผลกระทบจากวิกฤติสถาบันการเงินในสหรัฐ ประเมินสถานการณ์ในการประชุมครั้งแรก ยังไม่พบสัญญาณว่าภาคการเงินและภาคธนาคารของไทยจะได้รับผลกระทบที่น่าเป็นห่วงจากวิกฤติดังกล่าว ขณะที่ผลที่มีต่อตลาดทุนของไทยก็เป็นในทิศทางเดียวกับตลาดทุนประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก เชื่อว่าหากทางการสหรัฐมีมาตรการช่วยเหลือสถาบันการเงินที่เป็นรูปธรรมออกมาในเร็ว ๆ นี้ก็จะทำให้ปัญหาต่าง ๆ คลี่คลายลง 
ด้านผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวภายหลังร่วมประชุมว่า เงินลงทุนของต่างชาติที่ได้ขายหุ้นไปในระยะนี้ยังไม่ได้ไหลออกจากประเทศมากจนน่าตกใจ และเชื่อว่าส่วนใหญ่ยังคงอยู่ภายในประเทศ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเงินบาทไม่ได้อ่อนค่าลงมากแต่อย่างใด โดยปริมาณเงินที่ไหลออกในขณะนี้ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับฐานะทุนสำรองของประเทศที่อยู่ในระดับสูง
ขณะที่หนี้ต่างประเทศของไทยมีน้อยมาก และส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว โดยเป็นหนี้ระยะสั้นเพียง 38% ของหนี้ทั้งหมด ดังนั้น จึงเชื่อว่ายังสามารถรับมือกับสถานการณ์ทีเกิดขึ้นในขณะนี้ได้
นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามประสานงานแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในภาวะฉุกเฉิน เปิดเผยหลังประชุมร่วมกับ ผู้ว่าการ ธปท. คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
นายศุภรัตน์ กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ได้ติดตามสถานการณ์ต่างประเทศ โดยเฉพาะกรณีปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐ พบว่า ไม่มีสัญญาณที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการเงิน การธนาคารอย่างน่าเป็นห่วง ส่วนภาคธุรกิจประกันภัย ยังดำเนินธุรกิจด้วยดี แม้มีบริษัทประกันภัยบางแห่งมีส่วนเกี่ยวโยงกับสถาบันการเงินในสหรัฐที่มีปัญหา แต่ธุรกิจในประเทศไทยยังเข้มแข็ง
ด้านภาคตลาดทุน พบว่า ปัญหาในสหรัฐ ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยปรับลดลง แต่เป็นไปในลักษณะเดียวกับตลาดหุ้นอื่นๆ ในภูมิภาค ส่วนบริษัทจดทะเบียน ได้รับผลกระทบบ้าง แต่ไม่มีนัยสำคัญ
"จากการประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ และทางการสหรัฐฯ ได้มีมาตรการเข้ามาดูแลอย่างชัดเจน และจริงจังมากขึ้นทำให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสถาบันการเงินในประเทศไม่มี จึงไม่มีความจำเป็นต้องมีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบ เพื่อแก้ปัญหา เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นลักษณะเดียวกับวิกฤติสถาบันการเงินปี 2540 และเชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในสหรัฐจะคลี่คลายในทิศทางที่ดีและจะมีผลกระทบต่อสถาบันการเงินไทยน้อยมาก" นายศุภรัตน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องติดตามคือผลกระทบระลอก 2 ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะหดตัว และกระทบต่อความไม่มั่นใจของนักลงทุน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อศก.โลก และภาพรวมเศรษฐกิจไทยได้
"ตอนนี้มีความสบายใจในระดับหนึ่งและเห็นว่าสถานการณ์ขณะนี้ เมื่อเทียบสัปดาห์ก่อน ที่เพิ่งเกิดปัญหาของเลห์แมน ตอนนี้สถานการณ์ดีขึ้น ทำให้สบายใจมากขึ้น แต่สิ่งที่ต้องติดตามต่อไปคือเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นข้างหน้าเพื่อเตรียมพร้อม" ปลัดคลัง กล่าว
ด้านนางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ธปท.ได้ติดตามภาวะเงินไหลออกจากตลาดต่างๆ แล้ว โดยพบว่านักลงทุนต่างชาติที่เทขายหุ้นได้นำเงินไปลงทุนในตลาดตราสารหนี้ของไทยแทน และมีส่วนน้อยที่นำเงินออกนอกประเทศ
"สถานการณ์เงินไหลออกขณะนี้ มีน้อยมาก ซึ่งตัวที่บ่งชี้ได้ชัด คือ เงินบาท ซึ่งก็ไม่ได้อ่อนค่าลง เพราะหากมีเงินไหลออกมาก เงินบาทต้องอ่อนค่าลงแล้ว ทำให้สบายใจ" นางธาริษา กล่าว
นางธาริษา กล่าวอีกว่า จากข้อมูลของธนาคารพาณิชย์ไทย มีการลงทุนใน CDO เพียง 0.36% ของสินทรัพย์รวมในระบบธนาคารพาณิชย์ที่มี 8 ล้านล้านบาท เป็นสัดส่วนที่น้อยมาก และส่วนที่ไปลงทุนใน CDO ที่เกี่ยวข้องกับเลห์แมนฯ มีเพียงประมาณ 7,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.001%
อย่างไรก็ตาม ธปท.พร้อมใช้วิธีการต่างๆ เพื่อเสริมสภาพคล่องในระบบหากมีปัญหา แต่ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็น
ด้านนางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า ธุรกิจประกันภัยยังมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งและมีการเติบโตที่ดี โดยทั้งปีคาดว่าธุรกิจประกันชีวิตและประกันภัยจะขยายตัว 12% ส่วนบริษัท AIA ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาของ AIG นั้น มีสัดส่วนสินทรัพย์เพียง 1% และ AIA มีการลงทุนในตปท. 8.96% เท่านั้น จึงขอให้มั่นใจต่อฐานะความมั่นคงของบริษัท
สำหรับการถอนกรมธรรม์ของ AIA มีเพียง 20-30 กรมธรรม์/วัน และการถอนกรมธรรม์ได้ลดลงแล้วหลังจากบริษัทได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับลูกค้า ส่วนกรณีของ AIA ที่ฮ่องกง และสิงคโปร์ ที่ลูกค้าแห่ถอนกรมธรรม์จำนวนมาก เนื่องจากเป็นการประกันแบบยูนิตลิงค์
ด้านนายประเวช องอาจสิทธิชัย ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส ก.ล.ต. กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ปรับลดลงเป็นความผันผวนตามตลาดในภูมิภาค ซึ่งเป็นผลกระทบจากวิกฤติสถาบันการเงินในสหรัฐ ไม่ได้เกิดจากปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งยืนยันว่า บจ. บลจ. ยังเป็นสถาบันที่มีสินทรัพย์ที่สูง และความเสี่ยงต่ำ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ