แบรดฟอร์ด เดอลอง ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจประจำมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเคยทำงานในกระทรวงการคลังสหรัฐในช่วงปีพ.ศ.2536-2538 คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกอาจรอดพ้นจากภาวะถดถอยรุนแรงที่สุดในรอบ 25 ปี หากมาตรการกอบกู้วิกฤตการณ์การเงินที่รัฐบาลทั่วโลกนำมาใช้เกิดผล "เศรษฐกิจโลกเผชิญวิกฤตการณ์ร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 แต่ผมคาดว่าเศรษฐกิจจะไม่เผชิญสถานการณ์รุนแรงเหมือนกับในช่วง Great Depression ซึ่งในเวลานั้นตัวเลขว่างงานพุ่งสูงมาก การที่ทั่วโลกร่วมมือกันใช้มาตรการดังกล่าวจะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจของโลกรอดพ้นจากภาวะล่มสลายได้" เดอลอง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) พร้อมด้วยกลุ่มประเทศ G7 ประกาศใช้มาตรการต้านวิกฤตการเงินทั่วโลก และพร้อมที่จะดำเนินการทุกด้านเพื่อช่วยเหลือประเทศที่ประสบปัญหา ซึ่งครอบคลุมถึงการใช้เครื่องมือทั้งหมดที่สามารถหามาได้ เพื่อสนับสนุนสถาบันการเงินที่มีความสำคัญในเชิงระบบ และป้องกันไม่ให้สถาบันการเงินเหล่านี้ล้มละลาย นอกจากนี้ กลุ่มผู้นำยุโรปมีมติให้ใช้มาตรการรับมือกับปัญหาในระบบการเงิน ซึ่งครอบคลุมถึงการรับประกันเงินกู้ยืมระหว่างธนาคารพาณิชย์ และจะใช้งบประมาณในรูปสกุลเงินยูโรรับมือกับภาวะสินเชื่อตึงตัวในตลาดและยับยั้งความตื่นตระหนกของนักลงทุน หลังจากตลาดหุ้นในยุโรปถูกกระหน่ำขายอย่างหนัก โดยผู้นำ 15 ชาติยุโรปเห็นชอบร่วมกันว่า จะไม่ยอมให้ธนาคารรายใหญ่ล้มละลาย และจะรับประกันเงินกู้ยืมระหว่างธนาคารจนกว่าจะสิ้นสุดปีพ.ศ.2552 อีกทั้งจะใช้มาตรการอัดฉีดเงินเข้าระบบด้วยการซื้อหุ้นบุริมสิทธิ์ของสถาบันการเงิน