อดีต รมว.คลังแนะไทยปรับโครงสร้างศก.-การเงินรองรับวิกฤติสหรัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 21, 2008 15:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทนง พิทยะ อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า วิกฤติซับไพรม์ของสหรัฐครั้งนี้ แตกต่างจากวิกฤติเศรษฐกิจของไทยเมื่อปี 2540 ที่เกิดจากภาวะที่มีสภาพคล่องส่วนเกินจำนวนมากจากนโยบายเปิดเสรีการเงิน เปิดรับเงินทุนต่างประเทศไหลเข้าจำนวนมาก แต่ไม่ได้เกิดจากพื้นฐานเศรษฐกิจที่แท้จริง ทำให้เกิดสภาพคล่องส่วนเกินไหลไปลงทุนในตลาดทุน และตลาดอสังหาริมทรัพย์ แต่วิกฤติซับไพร์มในสหรัฐ เกิดจากการที่สถาบันการเงินร่วมมือกับธุรกิจประกัน มีการออกตราสารหนี้ในรูปแบบต่างๆ และเกิดการใช้สภาพคล่องส่วนเกินมากกว่า 10 เท่าของเศรษฐกิจโลก ทั้งในความเป็นจริง ควรมีเพียง 1.2 เท่า เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม วิกฤติการเงินของสหรัฐและยุโรป ทำให้ไทยและทั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหาไปอีกระยะ ดังนั้น ในส่วนของไทยต้องสร้างสภาวะไม่ให้เข้าสู่ภาวะวิกฤติ ต้องมีการปรับโครงสร้างภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างภาคการเงิน ที่ต้องวางกฎระเบียบกำกับดูแลที่ชัดเจน การวางนโยบายด้านเศรษฐกิจใหม่ต้องดูแลทั้งด้านการเติบโตและเสถียรภาพเศรษฐกิจ มีการสร้างความสมดุลระหว่างนโยบายในและต่างประเทศ และการมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในภูมิภาค จะต้องเร่งผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ให้ทันรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค

"รัฐบาลต้องในใจว่ามีการสร้างสมดุลระหว่างภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงกับภาคการเงิน แต่ตอนนี้ เรากลับไปให้ความสนใจกับภาคการเงินมากกว่า ทั้ง ๆ ที่แท้จริงแล้วเห็นว่า กระทรวงเศรษฐกิจทั้ง ก.พาณิชย์ ก.อุตสาหกรรม ก.เกษตรฯ มีบทบาทสำคัญมาก และสามารถอะไรได้อีกมาก" นายทนงกล่าว ในงานสัมมนา เรื่อง" 11 ปีวิกฤติศก. กับบทเรียนศก.ไทยในปัจจุบัน" นายทนงกล่าว

อดีต รมว.คลัง ได้เสนอแนะให้รัฐบาลดูแลภาคธุรกิจ การดูแลการปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบ และนโยบายดอกเบี้ยที่สูง ไม่ได้ดูแลเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน แต่กลับสร้างภาระต้นทุนให้ธุรกิจมากขึ้น นอกจากนี้ นโยบายภาคการเงินจะต้องมีการตัดสินใจอย่างเด็ดขาดเพื่อแก้ปัญหา มีการวางนโยบายที่สร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับนักลงทุน

ด้านนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาเรื่อง "ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทย ในกระแส แฮมเบอร์เกอร์ ไครซิส" ยอมรับว่า ศก.ไทยในปี 2552 จะขยายตัวไม่ถึง 4% หลังได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินสหรัฐและยุโรป และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

ดังนั้นในส่วนของรัฐบาล จะเร่งวางแนวทางรองรับทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยยังยืนยันที่จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณา เรื่องระบบค้ำประกันเงินฝากของผู้ฝากเงิน ว่ามีความจำเป็นต้องขยายวงเงินคุ้มครอง 100% ต่อไปจากกำหนด 1 ปี หรือไม่

และพิจารณาความจำเป็นของการชะลอการใช้ บาเซิล II ในการกำกับดูแล ธ.พาณิชย์ออกไป เนื่องจากอาจจะกระทบฐานะเงินกองทุนของ ธ.พาณิชย์ได้ ภายใต้เศรษฐกิจไทยที่ยังไม่เข้มแข็ง และ การมีระบบประกันการกู้เงินระหว่างธนาคาร (IB) เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบัน ทำให้ระบบเกิดความไม่เชื่อมั่นต่อกันได้ง่าย ขณะที่ภาคธุรกิที่ขาดสภาพคล่อง รัฐบาลพร้อมใช้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ทั้ง 8 แห่ง เข้ามาดูแลเสริมสภาพคล่องให้

"ทั้งหมดนี้ยังเป็นกรอบความคิดเห็น แต่ไม่ได้มีข้อจำกัดใดๆ แม้ภาพที่ออกมาอาจจะดูเหมือนว่ามาชนกัน (กับ ธปท.) เพราะอยู่คนละที่กัน ....แต่ก็อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปดู ความจำเป็นว่าจะดูแลภาพศก.ที่แท้จริงอย่างไร เพราะสภาพคล่องในระบบลดลง ราคาทรัพย์สินลดลง ...รัฐบาลก็ต้องเร่งแก้ปัญหาระยะสั้น เพื่อทำให้คนมีงานทำ ให้โอกาสประชาชน โดยนโยบายการคลัง " นายสุชาติ กล่าว

รมว.คลัง กล่าวว่า ในส่วนภาครัฐ จะได้เร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ เพื่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบ เร่งรัดดูแลโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ให้เป็นไปตามแผน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น โดยวันพรุ่งนี้ ตนเองจะได้หารือกับ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.คมนาคม เพื่อติดตามความคืบหน้าแผนการลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้า เพื่อให้กระทรวงการคลังได้ดำเนินการจัดหาเงินทุนใช้ก่อสร้างโครงการได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ