นักวิชาการเร่งหาข้อสรุประบบการออมเพื่อผู้สูงอายุก่อนเสนอนายกฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 23, 2009 14:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการผลักดันระบบการออมเพื่อวัยผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) ได้ประชุมพิจารณาแนวทางทางเลือกระบบการออมเพื่อวัยผู้สูงอายุ โดยได้รับทราบผลการศึกษา“การออกแบบระบบบำนาญแห่งชาติ"จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

น.ส.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านหลักประกันสังคม ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลขยายเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุทุกคน แต่ในอนาคตเงินจำนวน 500 บาทจะไม่เพียงพอแก่ค่าอาหารในการดำรงชีพ ขณะที่การเพิ่มวงเงินจะเป็นภาระแก่เงินงบประมาณจำนวนมาก เนื่องจากสัดส่วนผู้สูงอายุมากขึ้น

ดังนั้น ควรส่งเสริมหลักการออมเพื่ออนาคตด้วยการให้เข้ามามีส่วนร่วมวางแผนรับผิดชอบชีวิตตนเองยามชราภาพ โดยรัฐมีส่วนสนับสนุนอย่างสมศักดิ์ศรี และไม่ใช่การสงเคราะห์ โดยดำเนินการในรูปแบบการจัดตั้งกองทุนบำนาญแห่งชาติ เพื่อประชาชนที่ไม่ใช่ข้าราชการหรือข้าราชการบำนาญ เข้าระบบการออม มีสมาชิกกองทุน ตั้งแต่ช่วงวัย 20-59 ปี เข้าระบบบำนาญแบบออมขั้นต่ำ 50 บาททุกเดือน เพื่อให้มีสิทธิรับบำนาญขั้นต่ำ 500 บาท และเมื่อช่วงวัย 60 ปีขึ้นไป ไม่ต้องออมเงินเข้ากองทุน แต่รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุน100%

ส่วนสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับมีทั้งเงินบำนาญชราภาพ ซึ่งจะเริ่มรับเงินบำนาญส่วนนี้เป็นรายเดือนเมื่ออายุ 60 ปี เงินบำนาญทุพลลภาพ เงินบำเหน็จตกทอด และเงินค่าฌาปนกิจสงเคราะห์

"แม้ว่าระบบบำนาญแบบนี้จะเป็นไปในลักษณะภาคบังคับ แบบกำหนดผลประโยชน์ในอัตราคงที่ ซึ่งสิทธิของการได้รับบำนาญจะได้รับเมื่อมีการออม อาจจะไม่มีบทลงโทษ แต่ใช้เงินสมทบจำนวน 500 บาทที่รัฐบาลเป็นผู้จ่ายสนับสนุนอยู่แล้วเป็นเครื่องจูงใจในการออม โดยรัฐมีบทบาทในการลงทุนเริ่มแรกจำนวน 10,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินใกล้เคียงกับงบประมาณที่จ่ายเบี้ยยังชีพคนชราอยู่แล้ว" น.ส.วรวรรณ กล่าว

นางสุวัฒนา ศรีภิรมย์ นักวิชาการจาก สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า สศค. ได้เสนอระบบการออมเพื่อการชราภาพสำหรับแรงงานนอกระบบใน 2 รูปแบบคือ การออมในกองทุนบำเหน็จบำนาญภาคประชาชน (กบป.) และการออมในกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.)

กบป.จะมีลักษณะเป็นกองทุนการออมระยะยาวเพื่อการชราภาพ รูปแบบสมัครใจของแรงงานนอกระบบ กำหนดหน่วยเงินออม 1,200 บาท/ปี เฉลี่ยแล้วออม 100 บาท/เดือน มีระยะเวลาออม 15 ปี สมาชิกสามารถออมได้มากกว่า 1 หน่วย หรือเพิ่มจำนวนหน่วยออมในปีถัดไป แต่ต้องไม่เกิน 10 หน่วยตลอดชีพ จะได้รับผลประโยชน์บำนาญเมื่อเกษียณอายุครบ 60 ปี ประมาณ 650 บาท/ เดือน อย่างไรก็ตามภาครัฐจะมีเงินออมสมทบด้วยในฐานะมีบทบาทร่วมก่อตั้งกองทุน โดยประเดิมเงินจัดตั้งครั้ง แรกประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยอาจแบ่งจ่ายเป็น 2-3 งวดในระยะ 3 ปี

ส่วน กบช.มีรูปแบบเป็นกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุภาคบังคับ ครอบคลุมแรงงานนอกระบบทั่วประเทศซึ่งมีอายุระหว่าง 15-60 ปี แม้จะยังไม่มีงานทำจะต้องมาลงทะเบียนเป็นสมาชิกกองทุน อัตราการออมเป็นมูลค่าจำนวนเงินที่ไม่เป็นสัดส่วนกับค่าจ้าง กำหนดขั้นต่ำอยู่ที่ระดับป้องกันการตกสู่ความยากจนจำนวน 1,400 บาท หรือบังคับออมขั้นต่ำ 100 บาท/เดือน และรัฐสมทบให้ 200 บาท/เดือน

ผลประโยชน์ที่จะได้รับรายเดือนตามบัญชีของแต่ละคน ขึ้นกับเงินออมสมาชิก เงินสมทบรัฐบาล และดอกผลจากการบริหารเงินออม โดยรัฐรับประกันจ่ายบำนาญขั้นต่ำ 700 บาท ซึ่งภาระรัฐบาลจากการจ่ายสมทบ 200 บาท/เดือน เฉลี่ย 40 ปีข้างหน้า อยู่ที่ 58,061 ล้านบาท/ปี ไม่รวมกับที่รัฐต้องจ่ายเบี้ยยังชีพ

ด้านนายแพทย์บรรลุ ศิริพานิช รองประธานคณะอนุกรรมการฯ กล่าวว่า รูปแบบที่ทีดีอาร์ไอเสนอ มีความเหมาะสม เพราะเป็นภาคสมัครใจ ขณะที่ความเห็นส่วนตัวไม่ชอบการบังคับ เพราะจะไม่เกิดผลสำเร็จ แต่ที่น่ากังวล คือการหาหน่วยงานที่จะรับผิดชอบเป็นเจ้าภาพดำเนินการ เนื่องจากการดำเนินการในขณะนี้เป็นไปอย่างล่าช้า จึงเห็นว่าทั้ง 3 รูปแบบที่ได้นำเสนอให้มีการหารือเพื่อปรับแนวทางให้ลงตัว ก่อนนำมาพิจารณาให้ได้ข้อสรุปในการประชุมวันที่ 28 เม.ย.52 ก่อนเสนอต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ