ธปท.นำประเด็นการเมืองเป็นปัจจัยทบทวน GDP ปี 52 จับตาผลกระทบระยะต่อไป

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 17, 2009 13:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ธปท.จะนำสถานการณ์ความวุ่นวายจากการชุมนุมทางการเมืองมาเป็นปัจจัยหนึ่งของสมมติฐานในการทบทวนประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ของไทยในปี 52 จากเดิมที่คาดไว้ 0-2% ซึ่งคาดว่าจะทำให้คาดการณ์ GDP ที่จะมีการปรับใหม่อยู่ในช่วงที่ต่ำลงไปอีก ซึ่งจะมีการแถลงตามกำหนดเดิมในวันที่ 22 เม.ย.นี้

อย่างไรก็ตาม มองว่าขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้ทั้งหมด เพราะยังต้องติดตามประเด็นต่าง ๆ ที่จะตามมาในช่วงต่อไป ได้แก่ การยกเลิกการจองห้องพักโรงแรม การที่ไทยถูกปรับลดอันดับเครดิตที่จะกระทบกับความมั่นใจของภาคเอกชน ความไม่แน่นอนของนโยบายภาครัฐและอาจทำให้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจล่าช้าลง ซึ่งธปท.ก็ยังต้องจับตาปัญหาเหล่านี้ต่อไป

นางอัจนา กล่าวถึงการที่ไทยถูกปรับลดอันดับเครดิตว่า ขณะนี้ภาคเอกชนไทยกู้เงินจากต่างประเทศประมาณ 4.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ รัฐบาลเองก็มีการกู้จากต่างประเทศด้วย แต่สถาบันการเงินไทยกู้ต่างประเทศน้อยมาก ดังนั้น การที่ประเทศถูกลดเครดิตก็จะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินสูงขึ้น ซึ่งในระยะต่อไปก็จะพยายามผลักดันให้เอกชนเข้ามากู้ยืมเงินในประเทศ เพราะยังมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะรองรับ

ส่วนจะมีผลให้ yield เร่งตัวขึ้นหรือไม่นั้น เชื่อว่าภาครัฐและเอกชนจะเลือกจังหวะที่เหมาะสมในการออกตราสารหนี้เพื่อระดมทุนในประเทศ คงไม่ไปแย่งสภาพคล่องกันเอง จึงไม่น่าจะกระทบกับ yield ขณะเดียวกันตลาดก็มีความต้องการพันธบัตรจากนักลงทุนมากขึ้นในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดค่อนข้างต่ำ

นางอัจนา กล่าวว่า นโยบายการเงินเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ไม่ใช่ทุกอย่าง เพราะจะต้องมีตัวอื่นเข้ามาเสริมด้วย เพราะการลดดอกเบี้ยเป็นเพียงการช่วยลดต้นทุนและลดความเสี่ยง NPL แต่ธปท.ก็จะต้องคำนึงถึงผู้ฝากเงินด้วย เพราะรายได้จะลดลง ดังนั้น การกำหนดนโยบายการเงินก็จะต้องสร้างสมดุลในจุดนี้ด้วย และยอมรับว่าตอนนี้ประสิทธิภาพของนโยบายการเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจมีน้อยลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ