คลังเสนอร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ ครม.พิจารณาวันนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 25, 2009 09:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า กระทรวงการคลังได้ฤกษ์เสนอร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาอนุมัติ เพื่อจัดเก็บภาษีจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หลังผ่านขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์ครั้งสุดท้ายที่ จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา

สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ หากมีผลบังคับใช้จะมีระยะเวลาผ่อนปรนเพื่อให้ประชาชนมีเวลาปรับตัว 2 ปี ดังนั้นกว่าจะเริ่มจัดเก็บภาษีจริงคงเป็นปี 2555 และเบื้องต้นกำหนดข้อยกเว้นการจัดเก็บภาษีสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อยซึ่งมีทรัพย์สินเป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีทรัพย์สินมูลค่าไม่เกิน 1 ล้านบาท ก็ไม่ต้องเสียภาษี แต่หากมีมูลค่าสูงกว่านั้นก็จะต้องเสียในอัตราปกติ

กฎหมายนี้คาดว่าจะช่วยผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์ของที่ดินอย่างจริงจัง เพราะจากการสำรวจพบว่าที่ดินในประเทศไทยไม่ได้ใช้ประโยชน์สูงถึง 75% และที่ดินส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในมือของประชากรจำนวน 10% ของประเทศเท่านั้น ขณะที่คน 90% ของประเทศถือครองที่ดินไม่เกิน 1 ไร่

นอกจากนี้ยังมีวาระที่น่าสนใจ ได้แก่ กระทรวงการคลังขออนุมัติร่างระเบียบว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง เพื่อกำหนดให้ลูกจ้างประจำมีสิทธิได้รับบำเหน็จรายเดือน(บำนาญปกติที่ลูกจ้างประจำได้รับเป็นรายเดือน) และบำเหน็จพิเศษรายเดือน(บำนาญพิเศษสำหรับลูกจ้างประจำที่ได้รับอันตราย เจ็บป่วย หรือถูกประทุษร้ายจากการปฏิบัติงาน) โดยเป็นสิทธิเฉพาะตัวของลูกจ้างไม่รวมถึงบุคคลในครอบครัว

เนื่องจากเห็นว่าลูกจ้างประจำมีกำหนดเวลาการปฏิบัติงานเช่นเดียวกับข้าราชการคือเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 60 ปี ปฏิบัติงานอยู่ในระบบราชการและทำคุณประโยชน์ให้กับทางราชการคล้ายคลึงกับข้าราชการมาเป็นเวลานาน รัฐบาลจึงควรดูแลโดยให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามสมควร โดยเฉพาะสวัสดิการต่างๆ ที่ได้รับ และควรปรับปรุงสิทธิประโยชน์ให้เพิ่มมากขึ้นเมื่อลูกจ้างประจำออกจากราชการ ซึ่งปัจจุบันเมื่อออกจากราชการจะได้รับเงินบำเหน็จในคราวเดียว ทำให้ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากไม่มีรายได้เป็นรายเดือน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเรื่องค่าครองชีพจึงได้แก้ไขระเบียบดังกล่าว

หลักการของระเบียบ คือ ลูกจ้างประจำซึ่งมีเวลาทำงานตั้งแต่ 25 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป หรือมีสิทธิได้รับบำเหน็จพิเศษ สามารถขอรับเป็นบำเหน็จรายเดือน หรือบำเหน็จพิเศษรายเดือนแทนก็ได้ โดยไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเมื่อเลือกขอรับอย่างใดอย่างหนึ่งไปแล้ว จะได้รับตั้งแต่ออกจากงานจนกระทั่งผู้นั้นถึงแก่ความตาย และยังกำหนดสิทธิการได้รับบำเหน็จพิเศษรายเดือนในกรณีที่ได้รับอันตรายหรือเจ็บป่วยเพราะเหตุปฏิบัติงานในหน้าที่ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดอีกด้วย

พร้อมกันนั้น กระทรวงการคลังเสนอขออนุมัติยกเว้นภาษีสรรพสามิตเครื่องปรับอากาศ(แอร์) ขนาดไม่เกิน 72,000 บีทียู เพื่อช่วยให้ราคาขายแอร์ที่ผลิตในประเทศปรับลดลง 10% ส่งผลต่อกำลังซื้อของประชาชนที่จะเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีคำสั่งซื้อเข้าสู่บริษัทผู้ผลิตเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากเห็นว่าปัจจุบันแอร์ไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือย และไม่ได้สร้างมลภาวะเหมือนเมื่อก่อน ที่สำคัญถือว่าเป็นสินค้าที่หลุดเกณฑ์จากสินค้าบาปไปแล้ว ทำให้ไม่มีเหตุผลที่จะเก็บภาษีสรรพสามิตแอร์อีกต่อไป คาดว่าจะช่วยทำให้การส่งออกมีรายได้เพิ่มขึ้น 350,000 ล้านบาท มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 50,000 อัตรา และยังแข่งขันกับต่างประเทศได้ดีขึ้นด้วย

กระทรวงมหาดไทยเสนอขออนุมัติในหลักการแต่งตั้งคณะกรรมการในการเจรจากับบริษัท สไตเออร์ เคมเลอร์ พุด สเปเชียลฟาห์สซอย เอจี แอนด์ โค เคจี เกี่ยวกับสินค้าระหว่างรอผลคดีกรณีการจัดรถดับเพลิงและอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยระหว่างรัฐบาลไทยกับออสเตรีย ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าว ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) กรมบัญชีกลาง และกรุงเทพมหานคร(กทม.)

ทั้งนี้กระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาข้อเท็จจริงเห็นว่า หากรอผลการพิจารณาของศาลว่าสัญญาซื้อขายมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่ จะต้องใช้เวลานานและไม่แน่ชัดว่าผลดีจะเป็นประการใด ซึ่งต้องรอต่อไปอาจจะทำให้สินค้าเสื่อมสภาพรวมถึงมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าหน้าท่า ค่าภาษี ค่าปรับ ดังนั้นเพื่อรักษาผลประโยชน์ จึงเห็นควรขออนุมัติหลักการในการเจรจากับบริษัทดังกล่าว เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับสินค้าในระหว่างคดี

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวไม่กระทบต่อการโต้แย้งหรือการดำเนินการในคดี ซึ่งทางสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(สลค.) ให้ความเห็นว่าคดีนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดแล้ว และอยู่ระหว่างส่งเรื่องให้ศาลพิจารณาต่อไป และที่ผ่านมามีการจ่ายค่างวดไปแล้ว 5 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 3,905 ล้านบาท ขณะที่เหลืออีก 4 งวด และจะต้องชำระงวดที่ 6 ในเดือน ส.ค.นี้

กระทรวงแรงงานเสนอขออนุมัติโครงการจ้างงานเร่งด่วนและพัฒนาทักษะฝีมือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านอาชีพแก่ผู้ประสบภัยธรรมชาติปี 52 ระหว่างเดือน ก.ค.-ก.ย.นี้ แบ่งเป็นกลุ่มเป้าหมาย คือ การจ้างงานเร่งด่วน จ้างคนละ 150 บาทต่อวัน จำนวนไม่เกิน 20 วัน จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ 65,000 คนคิดเป็นงบประมาณ 195 ล้านบาท

ขณะที่การพัฒนาทักษะ 450 รุ่นๆ ละ 16 คน คิดเป็นงบประมาณรุ่นละ 1.9 แสนบาท รวมทั้งสิ้น 85 ล้านบาท และ ค่าใช้จ่ายในการบริหารโครงการ 19 ล้านบาท อย่างไรก็ตามสำนักงบประมาณให้ความเห็นว่าควรอนุมัติในหลักการแต่ควรใช้งบประมาณเพียง 119 ล้านบาทเท่านั้น โดยกลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้ คือ ผู้ว่างงาน ผู้ประสบความเดือดร้อนในด้านอาชีพ จากวิกฤตเศรษฐกิจและภัยธรรมชาติ ในหมู่บ้าน ชุมชน จำนวน 72,200 คน ที่ต้องการทำงาน ฝึกอบรม และ พัฒนาฝีมือแรงงาน

กระทรวงยุติธรรมขออนุมัติให้ข้าราชการอัยการในชั้น 5(ผู้ดำรงตำแหน่งอัยการผู้เชี่ยวชาญ หรืออัยการพิเศษประจำกรม เทียบเท่าอัยการจังหวัด) มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่ง คนละ 31,800 บาท จำนวน 220 คน คิดเป็นงบประมาณเฉลี่ยเดือนละ 6.9 ล้านบาท ขณะที่อัยการในชั้น 5 ปัจจุบันมีเงินเดือนประจำ 66,480 บาทต่อคนต่อเดือน และ มีเงินประจำตำแหน่งอยู่แล้ว 41,000 บาทต่อคนต่อเดือน

กระทรวงมหาดไทยเสนอขออนุมัติการจ่ายเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวให้แก่พนักงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) ในอัตรา 2,000 บาทต่อคนต่อเดือน โดยแบ่งเป็น 4 แนวทาง คือ พนักงานที่เงินเดือนต่ำกว่า 15,000 บาท จำนวน 529 คน ระยะเวลา 6 เดือน ใช้งบประมาณ 6.34 ล้านบาท, พนักงานที่เงินเดือนต่ำกว่า 15,000 บาทจำนวน 529 คนระยะเวลา 12 เดือน ใช้งบประมาณ 12 ล้านบาท, พนักงานที่เงินเดือนสูงกว่า 25,000 บาท จำนวน 2,341 คน ระยะเวลา 6 เดือน ใช้งบประมาณ 28 ล้านบาท และพนักงานที่เงินเดือนต่ำกว่า 50,000 บาท จำนวน 6,071 ระยะเวลา 12 เดือน ใช้งบประมาณ 145 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ