ธุรกิจยักษ์ใหญ่ของไทยห่วงการเมืองป่วนทำศก.ขาดความเชื่อมั่น-วอนรัฐใส่ใจเงินบาท

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 26, 2009 10:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เอกชนรายใหญ่หวั่นการเมืองทำเศรษฐกิจสะดุดเละขาดความเชื่อมั่น และเป็นห่วงค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นไปถึงปีหน้าวอนรัฐบาลเข้ามาดูแล อยากเห็นเงินบาทระดับ 36-37 บาท/ดอลลาร์ มองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเร็วเกินไป หวั่นภาครัฐถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมหนุนเดินหน้าแผนไทยเข้มแข็ง และปีหน้าให้รัฐบาลกำหนดนโยบายให้ชัด พร้อมรับมือการเปิดเสรีอาเซียน เพื่อเอกชนจะได้วางแผนได้ถูกทาง นายกานต์ ตระกูลฮุน ประธานเจ้าหน้าที่และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย(SCC) กล่าวว่า เศรษฐกิจทุกประเทศทั่วโลกสามารถฟื้นตัวรวดเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์กันว่าจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 4/52 โดยเริ่มเห็นการฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 3/52 ส่งผลให้เกิดความกังวลว่ารัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วโลกจะหยุดให้เงินสนับสนุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ หรือ ชะลอโครงการที่ตัดสินใจลงทุนไปก่อนหน้านี้ อาจส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มปรับตัวลดลงได้ เพราะขณะนี้ภาครัฐถือเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก รวมถึงประเทศไทยด้วย ดังนั้น รัฐบางจะต้องเร่งใช้เงินตามแผนไทยเข้มแข็ง ซึ่งหากโครงการเกิดขึ้นจริงก็จะส่งผลดีต่อเศษฐกิจของประเทศในทุกกลุ่มโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมและก่อสร้าง

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ภาคเอกชนต้องเตรียมตัวสำหรับการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน(AFTA) โดยกลุ่มซีเมนต์ไทยได้เตรียมตัวไปลงทุนยังต่างประเทศไว้แล้วเพื่อรองรับไว้แล้ว แต่ภาครัฐควรเข้ามาดูแลกลุ่มธุรกิจ SME และเกษตรกรที่ต้องทำเกษตรแบบมืออาชีพเพื่อรองรับการเปิดเขตการค้าเสรี

"ห่วงว่าคือเศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัวเร็วเกินไป จึงเป็นห่วงว่าจะฟื้นตัวอย่างมั่นคงหรือไม่ ขณะเดียวกันก็เป็นห่วงการแข็งค่าเงินบาท มากเกินไป ส่งผลต่อต้นทุนวัตถุดิบแน่นอน และปีหน้าอาจแข็งอีก หากรัฐไม่เข้ามาดูแล และเรื่องการเมืองจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยประสบปัญหาอีกครั้ง ความเชื่อมั่นหายไป และยิ่งมีการเปลี่ยนแปลงการเมืองแต่ละครั้งเศรษฐกิจก็ได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะต่างประเทศที่ลงทุนนั้นไม่ได้สนใจด้วยซ้ำว่าประเทศนั้นๆปกครองระบอบใดแต่สนใจเสถียรภาพรัฐบาลมากกว่า" นายกานต์ กล่าวในงาน“Economic Outlook 2010" โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจัดขึ้นเมื่อคืนวาน

นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ กล่าวว่า อยากให้ภาครัฐดำเนินนโยบายในปีหน้าคือ รัฐบาลจะต้องมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนว่าจะทำอะไร เพื่อกำหนดทิศทางนโยบายของประเทศไทยได้ชัดเจน และให้เอกชนและพ่อค้าในประเทศสามารถวางนโยบายได้ถูกทาง

เบื้องต้นแม้ในปีหน้าเศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่ยังเป็นห่วงเรื่องค่าเงินบาทและการเมืองไทย โดยอยากเห็นมากที่สุดคือ ดูแลค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมามากในปัจจุบัน ซึ่งมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจส่งออกหลักของประเทศที่มีสัดส่วนร้อยละ 70 ของจีดีพีประเทศมาก จึงอยาก เห็นค่าเงินบาทเคลื่อนไหวที่ระดับ 36-37 บาท/ดอลลาร์ เพื่อให้แข่งขันได้

และในปีหน้าจะมีการเปิดเขตเสรีการค้าอาเซียน ทำให้กำแพงภาษีระหว่างประเทศเหลือร้อยละ 0 ด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยหลายด้านที่กระทบต่อภาคธุรกิจ และในปัจจุบันภาคเอกชนกำหนดนโยบายเดินหนึ่งก้าวและถอยหลังหนึ่งก้าว ยังไว้ใจสภาพเศรษฐกิจและนโยบายของภาครัฐในปัจจุบันไม่ได้

ด้าน นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปตท.(PTT)กล่าวว่า ความเชื่อมั่นของไทยในช่วงที่ผ่านมาลดลงไปมาก จึงต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่น การเมืองยังเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบเศรษฐกิจไทย ส่วนราคาน้ำมันในปีหน้าคาดว่าจะสูงกว่าปีนี้ โดยน่าจะเฉลี่ยที่ 80 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จากในปี 52 คาดว่าเฉลี่ยอยู่ที่ 60-70 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล

ส่วนเรื่องเงินบาทแข็งค่านั้น ในแง่ธุรกิจพลังงานก็มีทั้งผลบวกและลบ โดยในกรณีนำเข้าที่ต้องอิงกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ การนำเข้าก็จะถูก แต่ถ้าต้องลงทุนก็จะแพง ดังนั้น ก็มีทั้งได้เปรียบเสียเปรียบ ในเชิงของประเทศต้องหาจุดพอเหมาะ เงินบาทจะต้องไม่อ่อนหรือแข็งเกินไป เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ อย่างไรก็ดี ควรหาวิธีการนำทุนสำรองไปลงทุนในต่างประเทศให้มากขึ้น

นายประเสริฐ มองว่า เศรษฐกิจปีหน้าจะฟื้นตัวทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะเศรษฐกิจเอเชีย ที่มีสัดส่วนต่อจีดีพีโลกเพิ่มมากขึ้น ไทยก็อยู่ในจุดที่ได้ประโยชน์ ขณะที่ในแง่การลงทุนภาครัฐก็เหมือนตั้งหลักได้แล้ว แพ็กเกจ 1.5 ล้านล้านบาท หากตั้งหลักได้ก็จะเดินได้ดี อย่างไรก็ดี มีกรณีที่ทั่วโลกห่วงหากมีการหยุดอัดฉีดเงินจำนวนมาก เพราะทุกประเทศเห็นว่าเศรษฐกิจเริ่มเป็นบวก แล้วไปหยุดการกระตุ้นจากภาครัฐ อาจทำให้เศรษฐกิจตกต่ำลงได้อีก

อย่างไรก็ตาม การลงทุนจะต้องมองระยะยาวด้วย เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจในอนาคต นอกจากนี้ เห็นว่ารัฐบาลควรเร่งสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้นในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ขณะเดียวกันควรผลักดันส่งเสริมพลังงานทดแทนอย่างจริงจัง ให้สอดรับกับกระแสภาวะโลกร้อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ