รมว.พลังงาน หนุนใช้ก๊าซชีวภาพที่ได้จากน้ำเสียมาใช้เป็นเชื้อเพลิงรถยนต์

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 22, 2010 18:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน กล่าวว่า กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) ร่วมกับ บมจ.ปตท.(PTT) เตรียมวิจัยปรับปรุงคุณภาพก๊าซชีวภาพที่ได้จากกระบวนการบำบัดน้ำเสียให้สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์(Compressed Biomethane Gas:CBG)ได้ เพื่อขยายโอกาสให้กับผู้ใช้รถยนต์ที่อยู่นอกแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติได้ใช้พลังงานในราคาประหยัด นอกจากนี้ยังช่วยลดต้นทุนการขนส่งก๊าซธรรมชาติ และยังช่วยรักษาสภาพแวดล้อมจากการลดปริมาณปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำอีกด้วย โดยเตรียมตั้งสถานีบริการแห่งแรกที่ จ.อุบลราชธานี

ทั้งนี้ ประเทศสวีเดนเป็นผู้นำในการผลิตและนำก๊าซชีวภาพมาใช้เป็นพลังงานทดแทนนานกว่า 20 ปีแล้ว และยังประสบความสำเร็จในการใช้ก๊าซชีวภาพมาใช้ในภาคขนส่ง โดยมีสถานีบริการราว 50-60 แห่ง และมีรถที่ใช้ CBG แล้วกว่า 8,000 คัน

ด้านนายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อธิบดี พพ.กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตก๊าซชีวภาพได้สูงกว่า 1,700 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปความร้อน เช่น การอบแห้ง หม้อไอน้ำ และผลิตกระแสไฟฟ้า โดยสถานีบริการก๊าซชีวภาพสำหรับรถยนต์แห่งแรกจะนำมาจากโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังของบริษัท อุบลเกษตรพลังงาน ซึ่งมีก๊าซชีวภาพเหลือใช้ประมาณ 20,000 ตัน/วัน จากที่ผลิตได้ทั้งหมด 36,000 ตัน/วัน

"ในอนาคตจะนำก๊าซชีวภาพที่ได้จากอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตร การปศุสัตว์ และการบำบัดน้ำเสียมาใช้เป็นก๊าซเชื้อเพลิงในรถยนต์สำหรับพื้นที่อื่นๆ ที่อยู่ห่างไกลจากแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เพื่อขยายสถานีบริการก๊าซเชื้อเพลิงรถยนต์ให้ทั่วถึง" นายไกรฤทธิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ