ศูนย์วิจัยแห่งชาติลอว์เรนซ์ ลิเวอร์มอร์ (LLNL) ซึ่งเป็นสถาบันทดลองและวิจัยการด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ ในแคลิฟอร์เนีย เปิดเผยว่า ชาวอเมริกันลดการใช้พลังงานลงและหันไปใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นในช่วงที่สหรัฐเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย และจากการที่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากขึ้น
โดยรายงานของ LLNL ระบุว่า การใช้พลังงานจากแหล่ง ถ่านหิน ปิโตรเลียม และแก็สธรรมชาติ ของสหรัฐในปี 2552 มีปริมาณลดลงจากปี 2551 เนื่องจากชาวสหรัฐส่วนใหญ่ได้หันไปใช้แหล่งพลังงานทางเลือก เช่น ลม พลังงานแสงอาทิตย์ น้ำพุร้อน และแหล่งความร้อนจากภายในโลก มากยิ่งขึ้น
ส่วนปริมาณการใช้พลังงานทั้งหมดของสหรัฐในปี 2552 เท่ากับ 94.6 พันล้านล้านบีทียู ลดลงจาก 99.2 พันล้านล้านบีทียู และหากเทียบเป็นกิโลวัตต์ พบว่า ครัวเรือนสหรัฐใช้พลังงานเฉลี่ย 11,000 กิโลวัตต์ต่อปี
ทั้งนี้ พลังงานที่ใช้ในภาคครัวเรือน, ธุรกิจ, อุตสาหกรรม, และการขนส่ง ลดลง 0.22, 0.09, 2.16, และ 0.88 พันล้านล้านบีทียู ตามลำดับ
ส่วนการใช้พลังงานลม มีปริมาณสูงขึ้นในปี 2552 เป็น 0.70 พันล้านล้านบีทียู เทียบกับ 0.51 พันล้านล้านบีทียูในปี 2551 โดยพลังงานเกือบทั้งหมด เป็นใช้ในการผลิตไฟฟ้า ช่วยให้ลดปริมาณการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าลง
ขณะที่ปริมาณการใช้พลังงานพลังงานนิวเคลียร์ยังคงทรงตัวในปี 2552 โดยไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลยร์เพิ่มเติม หรือโรงไฟฟ้าในปัจจุบันไม่มีการหยุดดำเนินงานและมีปริมาณการผลิตลดลงจากปี 2551 เพียงเล็กน้อย
นาย เอ.เจ. ไซมอน นักวิเคราะห์พลังงาน ศูนย์ฯ ลอร์เรนซ์ กล่าวว่า "อย่างไรก็ตาม ปริมาณการใช้พลังงานที่ลดลงไม่ได้หมายความว่าชาวสหรัฐได้เปลี่ยนแนวความคิดในการใช้พลังงาน หรือเปลี่ยนไปให้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยของประเทศ และเทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากขึ้น ส่งผลให้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจใช้พลังงานโดยเฉลี่ยลดลง"
นายไซมอน กล่าวเสริมว่า "การใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเป็นสิ่งที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานลม ซึ่งเป็นผลจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า โดยในปี 2552 เทคโนโลยีมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากและยังมีแรงจูงใจที่ดี ทำให้แผนการลงทุนในพลังงานในปีก่อนๆ ได้เริ่มดำเนินงานในปี 2552 ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีอีกหลายโครงการกำลังดำเนินงานในปี 2553 และในปีต่อๆ ไป" สำนักข่าวซินหัวรายงาน