นายกฯเผยดูแลเงินบาทไม่ให้ผันผวน แต่ไม่ฝืนกลไกตลาด,ส่งสัญญาณขึ้นค่าแรงฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 27, 2010 12:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์เงินบาทแข็งค่าอย่างหนักในขณะนี้ว่า ทางการยืนยันจะเน้นการดูแลค่าเงินบาทไม่ให้เคลื่อนไหวผันผวนมากเกินไป แต่ก็จะไม่ทำอะไรที่ฝืนกลไกตลาด ซึ่งขณะนี้การแข็งค่าเงินบาทเป็นปัญหาเดียวกับสกุลเงินในภูมิภาคนี้ ขณะที่ไทยยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ปริมาณเงินทุนที่ไหลเข้ามาในบางวันค่อนข้างมาก และการเก็งกำไร โดยเฉพาะในตลาดหุ้นก็เกิดขึ้นเป็นช่วง ๆ ซึ่งทางธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ก็จะต้องดูแล

"เราต้องใช้หลักการดูแลไม่ให้เกิดการผันผวนจนเกินไป แต่เราจะไม่ไปฝืนกลไกตลาด เพราะถ้าเราฝืนผลไกตลาดก็มีบทเรียนราคาแพงมาแล้ว"นายอภิสิทธิ์ กล่าว

และยังกล่าวเสริมว่า"ค่าเงินกับตลาดเงินมีสองส่วนเสมอ มีทั้งปัจจัยพื้นฐาน และการเก็งกำไร มันก็จะพันกัน"

ล่าสุด เงินบาทเช้านี้แข็งค่าไปที่ระดับ 31.35/37 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นการแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับค่าเงินสกุลหลักบางประเทศ

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ธปท.จะต้องเป็นผู้ดูแลอัตราดอกเบี้ยและค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ พร้อมไปกับการดูแลอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งจะต้องใช้ความระมัดระวังในการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยขณะนี้อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่ดูแลได้ ซึ่งจากการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)ก็เชื่อว่าแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อไม่น่าจะเพิ่มสูงไปกว่านี้แล้ว

ส่วนภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง น่าจะเป็นไปตามที่คาดการณ์ว่าการเติบโตจะชะลอลงจากครึ่งปีแรก แต่ทั้งปีคาดว่าจะขยายตัวได้เกินกว่า 7% และในปี 54 อาจจะชะลอลงมาเหลือเติบโต 4-5%

"การขยายตัวก็เป็นอัตราลดลง ตรงนี้เป็นธรรมชาติ ช่วงการฟื้นตัว ฐานมาจากฐานที่ต่ำ ระยะหนึ่งก็จะชะลอตัวลงมา แต่เป้าหมายเราทั้งปียังเกินร้อยละ 7 และหลังจากนี้หากจะมีการชะลอตัวลงไป ก็จะเป็นปกติประมาณร้อยละ 4-5"นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจในสัปดาห์พิจารณาเรื่องปัญหาราคาสินค้าที่มีแนวโน้มว่าจะปรับตัวสูงขึ้น โดยการพิจารณาอนุญาตให้ปรับขึ้นราคาหรือไม่จะยึดในเรื่องของต้นทุนเป็นหลัก หากผู้ประกอบการมีต้นทุนสูงขึ้นก็สามารถแจ้งมายังทางการเพื่อพิจารณาขอปรับราคาได้

ต่อคำถามที่ว่าปัญหาราคาสินค้าจะมีผลกระทบกับค่าแรงภาคเอกชนหรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับขึ้นในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงหรือก่อนจะมีการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ