Analysis: กระแสการควบรวมกิจการในเกาหลีใต้ส่อแววคึกคักไตรมาส 4

ข่าวต่างประเทศ Friday October 1, 2010 14:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ขณะที่บริษัทยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้เตรียมควบรวมและซื้อกิจการกันนั้น สื่อในเกาหลีใต้ต่างก็คาดการณ์ว่า จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมหลักๆของประเทศช่วงไตรมาส 4 ปีนี้

บรรดาเจ้าหนี้ของบริษัทยักษ์ใหญ่ อย่างไฮนิกซ์, ฮุนได เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (E&C) และแดวู ชิปบิลดิ้ง แอนด์ มารีน เอ็นจิเนียริ่ง (DSME) ต่างก็กำลังเร่งกระบวนการขายหุ้นที่ตัวเองถือไว้ ในขณะที่ใกล้จะถึงช่วงสิ้นปี

โดยบริษัทที่มีมูลค่าตามราคาตลาดตั้งแต่ 4 ล้านล้านวอน (3.5 พันล้านดอลลาร์) ไปจนถึง 10 ล้านล้านวอน (8.8 พันล้านดอลลาร์) ซึ่งพร้อมที่จะควบรวมกิจการนั้น กำลังถูกจับตาว่าจะดึงดูดความสนใจจากบริษัทและนักลงทุนรายใหญ่ๆจากทั้งในและต่างประเทศ

ฮุนได กรุ๊ป หรือฮุนได มอเตอร์ กรุ๊ป จะเป็นผู้คว้าชัยซื้อกิจการฮุนได อีแอนด์ซี

การควบรวมและซื้อกิจการครั้งใหญ่สุดในแง่ของขนาดและชื่อเสียงนั้น คือ การประมูลซื้อกิจการของบริษัท ฮุนได อีแอนด์ซี ซึ่งเป็นบริษัทก่อสร้างอันดับ 1 ของเกาหลีใต้ ซึ่งล้มละลายไปเมื่อปี 2543 และอยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าหนี้เมื่อเดือนพ.ค.2544

เจ้าหนี้ของฮุนได อีแอนด์ซี ได้ประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 ก.ย.ว่า จะนำบริษัทออกขาย ด้วยการขายหุ้นทั้งหมด 34.88%

ภายหลังจากที่มีการประกาศออกมานั้น ฮุนได มอเตอร์ กรุ๊ป ก็ได้ยื่นจดหมายแสดงเจตจำนงเข้าซื้อกิจการทันที แม้ว่าฮุนได กรุ๊ป จะป่าวประกาศว่า จะซื้อบริษัทคืนในช่วงครึ่งปีแรก

บรรดาเจ้าหนี้ ซึ่งมีเคอีบีเป็นแกนนำนั้น จะต้องพิจารณาคัดเลือกผู้ชนะการประมูลขั้นสุดท้ายเพื่อเข้าซื้อกิจการให้ได้ภายในช่วงสิ้นปีนี้ ซึ่งกลุ่มผู้สังเกตการณ์ในตลาดหลายรายคาดว่า จะเกิดสงครามแห่งการแก่งแย่งกันระหว่าง 2 กลุ่มธุรกิจดังกล่าว ซึ่งก่อนหน้านี้เคยอยู่ภายใต้ชายคาเดียวกันของชุง จู ยอง อดีตเจ้าของกิจการฮุนได กรุ๊ป

ฮุนได มอเตอร์ กรุ๊ป ซึ่งบริหารงานโดยชุง มง กู บุตรชายคนโตของชุง จู ยอง จะต้องฟาดฟันกับฮุนได กรุ๊ป ซึ่งอยู่ภายใต้บังเหียนของฮยุน จอง อึน ภริยาหม้ายของน้องชายของเขาเอง

ทั้งนี้ ฮุนได มอเตอร์ กรุ๊ป ได้แยกกิจการออกมาจากฮุนได กรุ๊ป เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เนื่องจากสงครามแห่งการแย่งตำแหน่งประธานบริษัท ซึ่งถือเป็นการแข่งขันที่ไร้ซึ่งความปราณีระหว่างบุตรชายของอดีตเจ้าของกิจการ

ปัจจุบัน ฮุนได กรุ๊ป เป็นบริษัทแม่ของบริษัท ฮุนได เมอร์ชานท์ มารีน และฮุนได อาซาน คอร์ป ซึ่งเป็นบริษัทต่อเรือชั้นนำของเกาหลีใต้

ในขณะที่บริษัททั้ง 2 รายต่างต้องการที่จะซื้อกิจการ ฮุนได อีแอนด์ซี ให้ได้นั้น ฮุนได กรุ๊ป ก็ใช้มาตรการเชิงรุก ด้วยการออกโฆษณาทางโทรทัศน์เพื่อดึงดูดความสนใจจากประชาชน

เพื่อเป็นการต่อกรกับฮุนได มอเตอร์นั้น ทางฮุนได กรุ๊ป ได้ชูจุดเด่นที่ว่า บริษัท ฮุนได อีแอนด์ซี เป็นมรดกสืบทอดมายังชุง มง ฮุน ซึ่งเป็นสามีที่ล่วงลับไปแล้วของฮยุน จอง อึน และชุง มง ฮุน ก็ได้ควักกระเป๋าตนเอง 4.40 แสนล้านวอน (384.3 ล้านดอลลาร์) เพื่อกอบกู้กิจการของบริษัทเมื่อปี 2543 ซึ่งเป็นช่วงที่บริษัทเสี่ยงที่จะล้มละลาย

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ซึ่งได้ออกโฆษณาทางโทรทัศน์และผ่านหูผ่านตาประชาชนไปแล้วนั้น ฮุนได กรุ๊ป จึงพยายามหาทางสู้เพื่อปกป้องสิทธิในการควบคุมกิจการของบริษัทไว้ให้ได้

ปัจจุบัน ฮุนได กรุ๊ป ถือหุ้นในฮุนได เมอร์ชานท์ มารีน อยู่ 44% ขณะที่บริษัทอื่นๆของฮุนได อาทิ ฮุนได เฮฟวี่ อินดัสทรีส์ และเคซีซี ถือหุ้นรวมกันอยู่ประมาณ 30%

ขณะที่ฮุนได อีแอนด์ซี ถือหุ้นอยู่ 9% ในบริษัทฮุนได เมอร์ชานท์ มารีน ซึ่งหากฮุนได มอเตอร์ ชนะการประมูลซื้อฮุนได อีแอนด์ซี ก็อาจจะทำให้ ฮยุน จอง อึน สูญเสียอำนาจในการควบคุมดูแลกิจการของฮุนได เมอร์ชานท์ มารีนได้

เมื่อพิจารณาสถานะของฮุนได เมอร์ชานท์ มารีน ในฐานะกิจการที่เป็นหัวใจหลักของฮุนได กรุ๊ป ด้วยเหตุนี้ ผู้บริหารของฮุนได กรุ๊ป จึงไม่สามารถปราชัยในศึกการซื้อกิจการครั้งนี้ได้ แต่ถึงกระนั้น แม้ ฮุนได กรุ๊ป จะใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวด แต่ก็ดูเหมือนว่า กระแสเงินสดหมุนเวียนของบริษัทจะไม่เอื้ออำนวยต่อความพยายามครั้งนี้

รายงานข่าวชี้ว่า ราคาขายกิจการฮุนได อีแอนด์ซี อยู่ที่ประมาณ 3 ล้านล้านวอน (2.6 พันล้านดอลลาร์) ซึ่งดูเหมือนว่า ฮุนได กรุ๊ป จะไม่สามารถหาเงินจำนวนมากขนาดนั้นได้ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า อำนาจทางการเงินของบริษัทนั้นมีเพียงแค่ครึ่งเดียวของราคาขายกิจการดังกล่าว

ในทางตรงกันข้าม อำนาจทางการเงินของฮุนได มอเตอร์ กรุ๊ป นั้น เรียกได้ว่าสวนทางกับของคู่แข่ง เนื่องจากฮุนได มอเตอร์ กรุ๊ป มีสภาพคล่องเหลือเฟือ และสามารถระดมทุนได้ถึง 4 ล้านล้านวอน (3.5 พันล้านดอลลาร์) เพื่อการควบรวมและซื้อกิจการ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถานการณ์แวดล้อมดูจะเป็นใจให้กับทางฮุนได มอเตอร์ กรุ๊ป ในแง่ของทรัพยากรทางการเงิน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะคาดการณ์ว่า ใครจะได้ซื้อกิจการบริษัท เพราะฮุนได กรุ๊ป เองก็ไม่ได้คิดที่จะถอนตัวจากการซื้อกิจการครั้งสำคัญนี้เลยแม้แต่น้อย

ไฮนิกซ์ - แดวู ชิปบิลดิ้ง แอนด์ มารีน เอ็นจิเนียริ่ง (DSME) ยังคงมองหาผู้ที่จะมาซื้อกิจการ

ขณะที่การแข่งขันกันเพื่อซื้อกิจการฮุนได อีแอนด์ซี กำลังร้อนแรง แต่ไฮนิกซ์ และ ดีเอสเอ็มอี กลับตกอยู่ในสถานการณ์ตรงกันข้าม เมื่อทั้งสองบริษัทยังคงต้องตั้งหน้าตั้งตารอผู้ที่จะมาประมูลซื้อกิจการ

นักวิเคราะห์หลายรายมองว่า ไฮนิกซ์ ซึ่งเป็นบริษัทผู้เมมโมรีชิพรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกนั้น อาจหาผู้ที่สนใจจะมาซื้อกิจการไม่ได้ เนื่องจากธุรกิจเมมโมรีชิพที่ซบเซาอยู่

เมื่อเดือนก.ย. 2552 ฮโยซุง กรุ๊ป ได้เสนอซื้อหุ้นส่วนใหญ่ในไฮนิกซ์ ก่อนที่จะตัดสินใจล้มเลิกแผนการดังกล่าวเพียงแค่ 2 เดือนถัดไป โดยให้เหตุผลว่าการซื้อกิจการครั้งนี้ไม่ช่วยส่งเสริมหรือสนับสนุนธุรกิจกันได้เท่าไรนัก ซึ่งนอกเหนือจากเหตุผลที่บริษัทได้ให้ไว้นั้น นักวิเคราะห์ในเกาหลีใต้มองว่า การยกเลิกแผนการซื้อกิจการดังกล่าวยังเป็นเรื่องของปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมด้วย เช่น ความอ่อนไหวของบริษัทผู้ผลิตชิพที่มีต่อวงจรธุรกิจ

ด้วยสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้เจ้าหนี้ของไฮนิกซ์ลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 15% จากเดิมที่ 28.07% แต่หุ้น 15% ก็ยังคงเป็นภาระอยู่ เนื่องจากมูลค่าหุ้นที่สูงถึง 2 ล้านล้านวอน (1.7 พันล้านดอลลาร์)

อย่างไรก็ดี แม้จะมีการคาดการณ์กันอย่างกว้างขวางว่า ไฮนิกซ์อาจจะยังไม่สามารถหาผู้ประมูลที่มีความเหมาะสมได้ แต่นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า การเปลี่ยนแปลงผู้บริหารในบริษัท แอลจี อิเลคทรอนิคส์ อาจเป็นโอกาสดีสำหรับไฮนิกซ์

เมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา แอลจี อิเลคทรอนิคส์ประกาศเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร โดยแต่งตั้งคู บอน จุน อดีตรองซีอีโอของแอลจี อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ป เป็นซีอีโอคนใหม่

ด้วยทีมบริหารใหม่นี้ สื่อและผู้เชี่ยวชาญต่างคาดการณ์ว่า แอลจี อิเลคทรอนิคส์ จะให้ความสนใจกับธุรกิจเซมิคอนดัคเตอร์มากกว่าที่จะไล่ตามบริษัทสมาร์ทโฟนยักษ์ใหญ่ในธุรกิจมือถือ

และเมื่อพิจารณาตัวซีอีโอคนใหม่ซึ่งเป็นอดีตเจ้าของกิจการแอลจี เซมิคอนดัคเตอร์ ที่ไฮนิกซ์ได้ซื้อกิจการไปเมื่อปี 2542 นั้น ก็ทำให้มีการคาดการณ์กันว่า แอลจี อิเลคทรอนิคส์อาจจะสนใจแผนการควบรวมและซื้อกิจการ

ทางด้านดีเอสเอ็มอี ก็พร้อมที่จะร่วมวงควบรวมและซื้อกิจการ แม้ว่าจะมีผู้เสนอตัวเข้าซื้อกิจการของบริษัทไม่มากนักก็ตาม โดยตัวเก็งอันดับหนึ่งก็คือ พอสโค

แม้ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นนี้ แต่เจ้าหนี้ของดีเอสเอ็มอีก็ยังคงมีความหวัง เนื่องจากอุตสาหกรรมต่อเรือยังอยู่ในช่วงขาขึ้น

ทั้งนี้ ณ วันที่ 23 ส.ค. ดีเอสเอ็มอีสามารถทำยอดสั่งซื้อได้ 75% ของเป้าที่วางไว้ที่มูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งดีกว่าการคาดการณ์และคาดว่าจะดีแบบนี้ไปจนถึงสิ้นปี

แม้ว่าจะยังไม่ปรากฏชื่อผู้สนใจซื้อกิจการ แต่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายก็มั่นใจว่า บริษัทจะตกไปอยู่ในมือของผู้ซื้อที่เหมาะสมได้ในเร็วๆนี้ เรียบเรียงโดย หน่า, แฮจุง จากสำนักข่าวซินหัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ