In Focusสงครามก่อการร้าย — สงครามค่าเงิน ความเสี่ยง 2 รูปแบบที่โลกกำลังเผชิญ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday October 6, 2010 16:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นับตั้งแต่เกิดเหตุวินาศกรรมตึกแฝดเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ เมื่อ 11 กันยายน 2544 โลกก็ต้องตกอยู่ภายใต้ความหวาดผวาของสงครามก่อการร้าย

โดยหากไม่นับรวมถึงเหตุโจมตีรายวันในอิรัก และ อัฟกานิสถาน ที่กลายเป็นสมรภูมิรบอย่างแท้จริงแล้ว ดินแดนอื่นๆ ตั้งแต่ฝั่งตะวันตกไปจนถึงฝั่งตะวันออก ก็กลับกลายเป็นสถานที่อันตรายเช่นกัน เมื่อกลุ่มก่อการร้ายที่มีเครือข่ายกระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก วางแผนก่อเหตุโจมตีกันอย่างเป็นระบบ ซึ่งบางแผนก็ประสบความสำเร็จ ขณะที่บางแผนก็ถูกสกัดกั้นไว้ได้ก่อน

ในบรรดาแผนลอบโจมตีเหล่านี้ ดูเหมือนว่า ชาวตะวันตกจะถูกจ้องเล่นงานมากที่สุด ดังเช่นเหตุการณ์ที่นครมุมไบ ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการเงินของประเทศอินเดีย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2551 โดยกลุ่มคนร้าย 10 คนได้ก่อเหตุอุกอาจบุกจับนักท่องเที่ยวในโรงแรมหรูระดับ 5 ดาวสองแห่งเป็นตัวประกัน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 160 ราย และบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งในการโจมตีครั้งนั้น กลุ่มก่อการร้ายได้พุ่งเป้าไปที่ชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวอเมริกันและอังกฤษ ซึ่งเป็นพันธมิตรเหนียวแน่นในการนำกองกำลังทหารบุกเข้าทำสงครามกับผู้ก่อการร้ายในอิรักและอัฟกานิสถาน

ขณะที่เมื่อวันคริสต์มาสปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองของชาวคริสต์ทั่วโลก ก็ได้เกิดเหตุการณ์ระทึกขวัญขึ้น โดยนาย อูมาร์ ฟารูค อับดุลมุตอลลับ ชายชาวไนจีเรียวัย 23 ปี พยายามที่จะจุดอุปกรณ์ระเบิดบนเที่ยวบินของสายการบินนอร์ธเวสต์ แอร์ไลน์ส ในเครือบริษัทเดลต้า แอร์ ไลน์ ที่บินจากกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ และกำลังจะถึงจุดหมายปลายทางที่ดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา แต่โชคดีที่ระเบิดไม่ทำงาน เหตุการณ์นี้ทำให้ประธานาธิบดีบารัค โอบามา หัวเสียอย่างมาก และสั่งให้มีการทบทวนขั้นตอนการตรวจสอบความปลอดภัยที่สนามบินในประเทศใหม่

จากนั้นในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ตำรวจสหรัฐได้จับกุมตัวนายซาห์ซัด ไฟซัล ชาวอเมริกันเชื้อสายปากีสถาน เนื่องจากมีหลักฐานที่ทำให้เชื่อว่าเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับความพยายามก่อเหตุวางระเบิดที่ย่านไทม์สแควร์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีผู้คนจอแจมากที่สุดแห่งหนึ่งในนิวยอร์ก อย่างไรก็ดี นับเป็นโชคดีของสหรัฐอีกครั้งที่ระเบิดไม่ทำงาน

แต่ความล้มเหลวดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้เหล่าผู้ร้ายท้อถอยแต่อย่างใด โดยล่าสุดโลกก็ต้องร้อนๆหนาวๆอีกครั้ง เมื่อหน่วยข่าวกรองหลายประเทศในยุโรปสามารถตามแกะรอยแผนก่อการร้ายที่มุ่งโจมตีหลายเมืองของอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี โดยใช้รูปแบบการโจมตีลักษณะเดียวกับเหตุการณ์จับและสังหารตัวประกันที่มุมไบเมื่อสองปีก่อน

ข้อมูลอันน่าตื่นตระหนกที่รั่วไหลไปถึงสื่อต่างๆนี้ ได้ส่งผลให้สหรัฐอเมริกา อังกฤษ สวีเดน ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศ รวมถึงไทย ออกประกาศเตือนให้พลเมืองของตนระมัดระวังตัวในการเดินทางไปยังยุโรป เพราะอันตรายจากการก่อการร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกขณะ

อัลกออิดะห์ ผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ก่อการร้ายหลายครั้ง รวมถึงแผนการล่าสุด !?

เชื่อกันว่า เครือข่ายก่อการร้ายอัลกออิดะห์เป็นกองหนุนแผนก่อเหตุโจมตีในยุโรปครั้งนี้ โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลสหรัฐกล่าวว่า โอซามา บิน ลาเดน และแกนนำของอัลกออิดะห์ ซึ่งหลบซ่อนตัวอยู่บริเวณชายแดนอัฟกานิสถาน-ปากีสถาน อาจเป็นผู้บงการอยู่เบื้องหลัง และยืมมือกลุ่มติดอาวุธกลุ่มอื่นที่ไว้ใจได้เป็นผู้ลงมือปฏิบัติการ เนื่องจากอัลกออิดะห์มีความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่มในเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา

โดยในเทปเสียงที่มีการเผยแพร่เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา บินลาเดนได้ออกมาอ้างว่าอยู่เบื้องหลังความพยายามระเบิดเครื่องบินที่มุ่งหน้าสู่สหรัฐในวันคริสต์มาส และยังประกาศกร้าวด้วยว่า จะดำเนินการก่อการร้ายอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่เคยทำงานใหญ่สำเร็จมาแล้วในเหตุวินาศกรรม 9/11

ทั่วโลกตื่นตัว

เมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา ฝรั่งเศสได้ยกระดับการเฝ้าระวังภัยในประเทศ หลังจากที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงผู้ไม่ประสงค์ออกนามหลายรายยืนยันว่า กลุ่มก่อการร้ายกำลังวางแผนโจมตีสถานที่สาธารณะหลายแห่ง

จากนั้นเมื่อช่วงสุดสัปดาห์จนถึงต้นสัปดาห์นี้ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ก็ได้ออกประกาศเตือนพลเมืองของตนให้ระมัดระวังขณะที่อาศัยหรือเดินทางท่องเที่ยวอยู่ในยุโรป ด้านสวีเดนก็ออกคำเตือนคล้ายๆกัน อีกทั้งยังได้เพิ่มระดับการเตือนภัยในประเทศ แต่ถึงกระนั้น ระดับการเตือนภัยของสวีเดนยังถือเป็นระดับต่ำสุดในบรรดาประเทศยุโรปอื่นๆ ขณะที่เจ้าหน้าที่ในเยอรมนี และ อิตาลี กล่าวว่า ระดับการเฝ้าระวังของสองประเทศยังคงอยู่ที่ระดับสูง

อย่างไรก็ดี การที่หลายประเทศออกมาเตือนประชาชนครั้งนี้ ยังไม่ใช่ขั้นร้ายแรงที่สุด โดยคำเตือนของรัฐบาลสหรัฐไม่ได้เจาะจงประเทศ และไม่ใช่การห้ามเดินทางมายังยุโรป ส่วนในอังกฤษนั้น ระดับเตือนภัยอยู่ที่ระดับ "severe" ซึ่งหมายความว่ามีแนวโน้มสูงที่จะเกิดเหตุโจมตี แต่ยังต่ำกว่าระดับ "critical" ซึ่งหมายความว่า เหตุโจมตีกำลังใกล้ที่จะเกิดขึ้น ขณะที่ระดับเตือนภัยของฝรั่งเศสนั้นอยู่ที่ "สีแดง" ซึ่งสูงสุดเป็นระดับที่สอง

เจ้าหน้าที่เผยว่า แม้จะมีการตีข่าวดังกล่าวไปทั่วโลกแล้ว แต่เท่าที่ทราบจนถึงขณะนี้ พวกผู้ก่อการก็ยังไม่ได้ล้มเลิกแผนการร้ายแต่อย่างใด แต่คาดว่าการโจมตีจะยังไม่เกิดขึ้นในทันที

หวั่นเกิดสงครามค่าเงิน

ในขณะที่ฝ่ายความมั่นคงของหลายประเทศต้องเฝ้าจับตาสงครามก่อการร้ายครั้งใหม่อย่างไม่ให้คลาดสายตานั้น ฝ่ายการเงินก็กำลังปวดเศียรเวียนเกล้ากับสงครามค่าเงินที่กำลังถูกจุดชนวนขึ้น

โดยเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (2 ต.ค.) โดมินิก สเตราส์-คาห์น กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้เรียกร้องประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่เพิ่มความพยายามในการป้องกันการเกิดสงครามค่าเงินทั่วโลก ในระหว่างการประชุมเศรษฐกิจที่ประเทศยูเครน

นายสเตราส์-คาห์นกล่าวว่า ที่ผ่านมา ทั่วโลกสามารถหลีกเลี่ยงวิกฤตการณ์ที่ใหญ่กว่านี้มาได้ เนื่องจากความร่วมมือกันทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นการคลังและนโยบายการเงิน แต่ปัจจุบัน ความเต็มใจที่จะร่วมมือกันนั้นได้ลดลง และเริ่มเห็นถึงความเป็นไปได้ที่ทั่วโลกกำลังเริ่มต้นทำสงครามค่าเงิน

และล่าสุด เขายังได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกครั้งว่า ขณะนี้แนวคิดเรื่องการใช้ค่าเงินเป็นอาวุธด้านนโยบายนั้น ได้เริ่มแพร่กระจายไปอย่างชัดเจน และหากมีการนำแนวคิดดังกล่าวไปดำเนินการ ก็จะทำให้เกิดความเสี่ยงสูงมากต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก พร้อมกับย้ำว่า แนวทางดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบและส่งผลเสียในระยะยาว

ด้าน โรเบิร์ต เซลลิก ประธานธนาคารโลกกล่าวเมื่อวันจันทร์ (4 ต.ค.) ว่า แม้เขาไม่คิดว่าจะเกิดสงครามสกุลเงินโลกขึ้นในอนาคต แต่ที่แน่ๆ จะมีความตึงเครียดเกิดขึ้น สืบเนื่องมาจากการที่หลายประเทศลดค่าเงินเพื่อความได้เปรียบทางเศรษฐกิจของตนเอง

การแสดงความเห็นของนายใหญ่เวิลด์แบงก์และไอเอ็มเอฟมีขึ้นในขณะที่รัฐบาลหลายประเทศได้เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องเพื่อดึงสกุลเงินของตนให้อ่อนค่าลง

ญี่ปุ่นเดินหน้าลุย

โดยเมื่อวันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา ทางการญี่ปุ่นได้เข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราเพื่อสกัดการแข็งค่าของเงินเยนเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี หลังจากที่ธุรกิจส่งออกของประเทศได้รับความบอบช้ำ หลังจากเงินเยนพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 15 ปีเมื่อเทียบกับดอลลาร์ เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

และวานนี้ (5 ต.ค.) ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือ 0 - 0.1% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551 ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่พลิกความคาดหมายของตลาด พร้อมกันนี้ บีโอเจยังประกาศมาตรการเพิ่มเติมเพื่อต่อสู้กับการแข็งค่าของค่าเงินเยน และแก้ไขปัญหาภาวะเงินฝืด ด้วยการตั้งกองทุนมูลค่า 5 ล้านล้านเยน (6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อเข้าไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล และสินทรัพย์อื่นๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

นักวิเคราะห์กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวของแบงก์ชาติญี่ปุ่นสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของทางการญี่ปุ่นในการทำทุกวิถีทางเพื่อควบคุมเงินเยนไม่ให้แข็งค่าไปมากกว่านี้ และเป็นการเพิ่มสภาพคล่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่เปราะบางของประเทศ

บราซิล-เกาหลีใต้ขอตาม

ขณะเดียวกันประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่หลายประเทศ อาทิ บราซิล อินโดนีเซีย รวมไปถึงเกาหลีใต้ ก็ดำเนินมาตรการเพื่อควบคุมค่าเงินเช่นกัน เนื่องจากเงินทุนจำนวนมากจากทั่วโลกที่หลั่งไหลเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่เหล่านี้ ได้ทำให้สกุลเงินของแต่ละประเทศแข็งค่าขึ้น

ประธานธนาคารโลกได้กล่าวถึงสถานการณ์นี้ว่า "นักลงทุนต้องการผลตอบแทนที่ดี แต่ไม่สามารถหาผลตอบแทนเหล่านั้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว และนั่นไม่เพียงแต่ดันค่าเงินในประเทศที่กำลังพัฒนาให้ปรับตัวขึ้น แต่ยังดันราคาสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะฟองสบู่ในอสังหาริมทรัพย์และสินค้าโภคภัณฑ์บางประเภท"

กวิโด มันเตกา รัฐมนตรีคลังของบราซิล ได้ออกมาเตือนถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดสงครามค่าเงินขึ้น และประกาศว่า รัฐบาลบราซิลจะเข้าซื้อเงินดอลลาร์ส่วนเกินที่มีอยู่ในตลาดทั้งหมดเพื่อควบคุมการแข็งค่าของเงินเรียล นอกจากนี้ ยังมีการปรับเพิ่มภาษีขึ้น 2 เท่า เป็น 4% สำหรับนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้าลงทุนในตราสารหนี้ของบราซิล หลังจากที่เริ่มมีการเก็บภาษีดังกล่าวเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนต.ค.ปีที่แล้ว

ด้านธนาคารกลางเกาหลีใต้ และ สำนักงานกำกับดูแลทางการเงินของเกาหลีใต้ จะเริ่มตรวจสอบการซื้อขายตราสารอนุพันธ์สกุลเงินต่างประเทศของธนาคารต่างๆที่ดำเนินงานอยู่ในเกาหลีใต้ ในวันที่ 19 ต.ค.นี้ และอาจจะกำหนดมาตรการใหม่ๆ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับผลการตรวจสอบดังกล่าว โดยมีเป้าหมายเพื่อควบคุมความผันผวนอันเนื่องมาจากกระแสเงินทุนไหลเข้า

เจ้าหน้าที่ของสำนักงานกำกับดูแลทางการเงินของเกาหลีใต้กล่าวว่า ค่าเงินวอนแข็งค่าค่อนข้างเร็ว ทางหน่วยงานจึงต้องการให้ตลาดมีเสถียรภาพ ด้วยการใช้มาตรการเพื่อควบคุมความผันผวนของค่าเงิน

ขณะที่เมื่อวานนี้ ธนาคารกลางอินโดนีเซียก็ได้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ 6.5% พร้อมให้ความสำคัญกับการควบคุมกระแสเงินทุนไหลเข้าที่มีอยู่จำนวนมากในขณะนี้

แถลงการณ์ของธนาคารกลางอินโดนีเซียระบุว่า การที่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยของอินโดนีเซียอยู่ในระดับสูงกว่าประเทศอื่นๆนั้น ทำให้กระแสเงินทุนจากทั่วโลกไหลเข้าสู่อินโดนีเซียจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะสูงขึ้นอีกในอนาคต จึงทำให้ธนาคารกลางต้องจับตาดูสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ ไต้หวันก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ประสบปัญหาสกุลเงินแข็งค่าเช่นกัน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ตลาดหุ้นไต้หวันปิดลดลงติดต่อกันสองวันในวันจันทร์และอังคารที่ผ่านมา เนื่องจากนักลงทุนหวั่นเกรงว่าเงินดอลลาร์ไต้หวันแข็งค่าจะฉุดรั้งรายได้และผลกำไรจากต่างประเทศของบรรดาบริษัทส่งออก โดยอีโคโนมิค เดลี่ นิวส์ รายงานโดยไม่ได้เปิดเผยที่มาของข้อมูลว่า ธนาคารกลางไต้หวันอาจขายเงินดอลลาร์ไต้หวันเป็นมูลค่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ไต้หวัน (642 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือมากกว่านั้น เพื่อควบคุมการแข็งค่าของสกุลเงิน

อย่างไรก็ตาม ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) กลับสนับสนุนให้ค่าเงินของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่แข็งค่ามากกว่านี้ เมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์ ยูโร และเยน เพื่อลดภาวะไร้สมดุลทั่วโลก

ประธานเอดีบีกล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียอย่างอินเดีย จีน และเวียดนามนั้น มีความยืดหยุ่นเป็นอย่างมาก และยังมีอัตราการขยายตัวยั่งยืนกว่าประเทศในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) พร้อมกับชี้ว่า การปรับเปลี่ยนอัตราแลกเปลี่ยนทั่วโลกจะช่วยลดภาวะไร้สมดุล และยังเป็นเรื่องที่ดีสำหรับเอเชีย

ยุโรปร่วมวงสหรัฐ กดดันจีนปล่อยเงินหยวนแข็งค่า

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สหรัฐแสดงบทบาทเป็นแกนนำประชาคมโลกในการเรียกร้องจีนให้ปล่อยเงินหยวยแข็งค่าขึ้นมาโดยตลอด และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเพิ่งมีมติผ่านร่างกฎหมายการปฏิรูปสกุลเงินเพื่อการค้าที่เป็นธรรม (Currency Reform for Fair Trade Act) เพื่อเปิดทางให้สหรัฐสามารถคว่ำบาตรการค้า ซึ่งรวมถึงการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้ากับประเทศคู่ค้าที่มีพฤติกรรมปั่นค่าเงินโดยผิดกฎหมาย โดยร่างกฎหมายฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะกดดันให้จีนปรับขึ้นค่าเงินหยวนให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกที่กำลังขยายตัวขึ้น

ล่าสุด สหรัฐก็ได้เพื่อนร่วมขบวนการแล้ว เมื่อกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร 16 ประเทศ หรือยูโรโซน ได้ออกมาเรียกร้องจีนให้ปล่อยเงินหยวนแข็งค่าขึ้น เพื่อช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยนายฌอง-คล้อด ยุงเกอร์ ประธานกลุ่มยูโรโซน กล่าวว่าเขาได้แสดงความเห็นในระหว่างที่พบหารือกับนายกรัฐมนตรีเหวิน เจียเป่าว่า ต้องการเห็นเงินหยวนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และเงินสกุลสำคัญอื่นๆ

"เราเชื่อว่า อัตราแลกเปลี่ยนหยวนอยู่ในระดับอ่อนแอกว่าความเป็นจริงเป็นอย่างมาก" นายยุงเกอร์กล่าว
จีนเมินเสียงเรียกร้อง

แม้จะถูกกดดันจากมหาอำนาจตะวันตก แต่จีนก็ยังคงยืนกรานจุดยืนของตนว่า เป้าหมายของจีนคือการรักษาเสถียรภาพในตลาดปริวรรตเงินตรา และจีนไม่เคยใช้สกุลเงินหยวนที่อ่อนค่าเกินจริงเพื่อเป็นเครื่องมือในการหาข้อได้เปรียบด้านการแข่งขันทางการค้าตามที่สหรัฐและยุโรปกล่าวหา

ทั้งนี้ สงครามก่อการร้าย และ สงครามค่าเงิน กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น และยังไม่มีบทสรุป แต่ขึ้นชื่อว่าสงคราม ผลที่ออกมาย่อมไม่ดีแน่ นอกเสียจากว่า ทุกฝ่ายจะยอมเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่า ดังที่จอห์น เลนนอน ได้กล่าวไว้ในบทเพลง Imagine ท่อนหนึ่งที่ว่า ...

Imagine no possessions

I wonder if you can

No need for greed or hunger

A brotherhood of man

Imagine all the people

Sharing all the world...


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ