GBS มอง SET ปีหน้า 1,190–1,510 จุด เม็ดเงินตปท.ยังไม่เข้า-เฟดขึ้นดบ.กดดัน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 28, 2015 11:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.โกลเบล็ก (GBS) ประเมินว่า แนวโน้มดัชนีหุ้นไทยปี 2559 จะมีความผันผวนสูงต่อเนื่องจากปี 2558 เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐที่ฟื้นตัวดีขึ้น โดยคาดว่าในปี 2559 ธนาคารกลางสหรัฐจะทยอยปรับอัตราดอกเบี้ย FED Fund Rate ขึ้นครั้งละ 0.25% จำนวน 4 ครั้ง รวม 1.00% ซึ่งส่งผลให้กระแส Fund flow มีความผันผวนสูง

ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศขนาดใหญ่ เช่น จีน ยุโรป ยังคงชะลอตัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อทิศทางการส่งออกของประเทศไทย อย่างไรก็ตามปัจจัยบวกจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นตามการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะเป็นแรงหนุนให้ดัชนี SET สามารถรีบาวด์ขึ้นได้

นอกจากนี้ คาดว่า Fund flow ต่างชาติจะยังไม่ไหลเข้า เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด จะส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง และทำให้ Fund flow ที่ไหลเข้าอาจขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ นอกจากนี้ตลาดหุ้นไทยยังต้องรอภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพเพื่อผลักดันให้ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนให้สูงขึ้น และหนุนให้หุ้นไทยมีระดับ P/E ถูกกว่าตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเพื่อดึงดูดให้เม็ดเงินต่างชาติไหลเข้าลงทุนอีกครั้ง

นายชัยยศ จิวางกูร ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.โกลเบล็ก แนะนำ กลยุทธ์การลงทุนปี 2559 โดยให้กรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีไว้ที่ระดับ 1,190-1,510 จุด อิงสมมติฐาน GDP ปี 2559 ขยายตัว 4% ซึ่งมีความเป็นไปได้สูง และจะช่วยหนุน EPS ของบริษัทจดทะเบียนและดัชนี SETให้สูงขึ้น จากการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐผ่านการประมูลโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งจะเร่งตัวมากขึ้นในปี 2559 อีกทั้งการลงทุนภาคเอกชนที่มีความเชื่อมั่นมากขึ้น รวมทั้งค่าเงินบาทที่อ่อนค่าจะช่วยหนุนต่อภาคการส่งออก

อย่างไรก็ตามปี 2559 ก็ยังคงมีปัจจัยที่น่าจับตา เช่น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ส่งผลกระทบ ต่อ fund flow และความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก บวกกับภาวะเศรษฐกิจไทยยังต้องรอการฟื้นตัวที่ชัดเจน รวมทั้งปัญหา NPL และภาระหนี้สินสูงของภาคครัวเรือนจากสัดส่วนหนี้สินที่อยู่ระดับสูง ประกอบกับเหตุก่อการร้ายที่เป็นภัยคุกคามการฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซน

ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนในปี 2559 แนะนำซื้อสะสมช่วงอ่อนตัวบริเวณ 1,200–1,250 จุด โดยเลือกลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารเลือกหุ้นที่ P/BV ต่ำ และมี Dividend Yield สูง แนะนำ KTB เด่นสุด รองลงมากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า และกลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรม ได้อานิสงส์จากแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยว แนะนำ AOT

อย่างไรก็ตาม แนะนำหลีกเลี่ยงลงทุนในกลุ่มที่ทำธุรกิจนำเข้าหรือกลุ่มที่มีหนี้ต่างประเทศในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐสูง เช่น THCOM PTTEP

สำหรับแนวทางการลงทุนในทองคำ นายสุทธิพงษ์ ศรีพรประเสริฐ นักวิเคราะห์การลงทุน บล.โกลเบล็ก เปิดเผยว่า ทิศทางราคาทองคำในปี 2559 จะยังมีแนวโน้มปรับลงต่อแต่จะไม่รุนแรงมากเท่ากับปีที่ผ่านมาหลังราคาปรับลงแรงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปี 2556 โดยกรอบแกว่งตัวในกรอบ 800-1,300 เหรียญต่อทรอยออนซ์ โดยมีปัจจัยที่กดดันราคาทองมาจากแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่มีแนวโน้มปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2559 หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในปี 2558 ออกมามีแนวโน้มแข็งแกร่ง โดยมีการประเมินว่าเฟดอาจจะปรับขึ้นอีกโดยเฉลี่ยไตรมาสละครั้ง (จากการคาดการณ์ของโกลด์แมน แซคส์ หรือราว 1% ในปีหน้า)

อีกทั้งการออกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของธนาคารกลางยุโรปจะสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินยูโรจากปัจจัยข้างต้นที่เกิดขึ้นจะเป็นตัวสร้างแรงหนุนต่อสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐให้แข็งค่าขึ้นเป็นปัจจัยกดดันทองคำ อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางที่ได้สร้างความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและชาติพันธมิตรฝั่งตะวันตกนำโดยสหรัฐฯจะทำให้มีเงินลงทุนบางส่วนย้ายเข้ามาในทองคำเพื่อลดความเสี่ยง

รวมถึงการเข้าสะสมทองคำของจีนโดยล่าสุดทองคำสำรองของจีน ณ สิ้นเดือนพ.ย.2558 อยู่ที่ 56.05 ล้านออนซ์ (ราว 1,743 ตัน) เพิ่มขึ้น 670,000 ออนซ์ (ราว 21 ตัน) จาก ณ สิ้นเดือนต.ค. ทั้งนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเสถียรภาพของมูลค่าของเงินหยวนเพื่อรองรับมติไอเอ็มเอฟที่จะเพิ่มสกุลเงินหยวนเป็นหนึ่งในสกุลเงินทุนสำรองระหว่างประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2559 จะสร้างปัจจัยหนุนต่อราคาทองคำ ดังนั้นทิศทางของราคาทองคำในปี 2559 จะยังมีความเสี่ยงที่จะปรับลงต่อแต่จะลดความรุนแรงลง

ดังนั้น จึงมองว่ากลยุทธ์การลงทุนในทองคำควรเน้นการลงทุนไปทางด้านเปิดสถานะ SHORT เพื่อเล่นรอบในทิศทางของขาลง โดยจะเป็นการรอเปิดสถานะ SHORT ช่วงที่ราคาทองมีการฟื้นตัวเพื่อลดความเสี่ยงระยะสั้นของราคาทองที่ปรับลงมามากนับแต่ปี 2556 โดยให้แนวรับ 800- 740 เหรียญต่อทรอยออนซ์ และแนวต้าน 1,300 -1,390 เหรียญต่อทรอยออนซ์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ