In Focusแบล็คเบอร์รี่...อริแห่งโลกอาหรับกับข้อหาภัยก่อการร้ายบนปลายนิ้ว

ข่าวต่างประเทศ Wednesday August 4, 2010 13:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พลพรรคคนรักแบล็คเบอร์รี่ทั่วโลกอาจเริ่มร้อนๆ หนาวๆ จากข่าวที่ว่ามีบางประเทศในแถบตะวันออกกลางหรือโลกอาหรับจะระงับการให้บริการโปรแกรมยอดฮิตบนสมาร์ทโฟนยี่ห้อนี้ ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ใช้แบล็กเบอร์รี่ ต้องเว้นวรรคการแชทบีบีกับเพื่อนในลิสต์ อดทวีตข้อความผ่านเว็บ งดอัพเดต status หรืออัพโหลดรูปบนเฟซบุ๊ค

จากฐานะสมาร์ทโฟนประดับบารมีที่มีชื่อเล่นว่า "บีบี" มาวันนี้อุปกรณ์ที่ถือได้ว่าเป็นอวัยวะที่ 33 ของร่างกายกำลังกลายเป็นแพะรับบาป เมื่อสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ซาอุดิอาระเบีย และบาห์เรน รวมถึงประเทศในเอเชียใต้ อย่างอินเดีย ยัดเยียดข้อหากระทงใหญ่ว่า แบล็คเบอร์รี่ อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือก่อการร้าย และเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคง

*BlackBerry Storm: พายุกระหน่ำกลางอ่าวอาหรับ

สมาร์ทโฟนแบล็คเบอร์รี่ ของ รีเสิร์ช อิน โมชั่น (Research In Motion หรือ RIM) จากแคนาดา กำลังเจอพายุลูกใหญ่สมกับชื่อผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ที่บริษัทเปิดตัวออกสู่ตลาด ทว่าพายุที่กระหน่ำแบล็คเบอร์รี่ในฤดูมรสุมครั้งนี้ที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ในกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ โดยเริ่มจากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังปานกลางที่ก่อตัวขึ้นในบาห์เรนเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่บาห์เรนออกมาเตือนว่า แบล็คเบอร์รี่ เป็นอุปกรณ์ที่เสี่ยงต่อความมั่นคงจากการส่งข่าวภายในประเทศ

ล่าสุด หย่อมความกดอากาศต่ำเริ่มพาดผ่านและเคลื่อนตัวเข้าสู่ซาอุดิอาระเบีย เมื่อคณะกรรมาธิการโทรคมนาคมและข้อมูลข่าวสารเทคโนโลยีของซาอุดิอาระเบีย (ซีไอทีซี) ได้สั่งการไปยังผู้ให้บริการมือถือในประเทศระงับการให้บริการของแบล็คเบอร์รี่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันศุกร์นี้ (6 ส.ค.) เป็นต้นไป เนื่องจากการให้บริการของแบล็คเบอร์รี่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของทางการ

แต่เอาเข้าจริงมรสุมการแบนแบล็คเบอร์รี่เริ่มทวีความรุนแรงขึ้นก็เมื่อสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตั้งป้อมประกาศเป็นศัตรูกับแบล็คเบอร์รี่อย่างโจ่งแจ้ง ด้วยการระงับบริการส่งข้อความหรือ BlackBerry Messenger (BBM) อีเมล ท่องเว็บไซต์ รวมถึงการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์บนแบล็คเบอร์รี่ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป ภายใต้ข้อหาว่า แบล็คเบอร์รี่ที่มีผู้ใช้งานกว่า 500,000 คนจากประชากรทั้งหมด 6.8 ล้านคนในยูเออีอาจถูกมือดีที่ประสงค์ร้ายนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการก่อการร้ายหรือทำลายรัฐบาล ซึ่งจะเป็นภัยคุกคามความมั่นคงภายในประเทศ ขณะที่ระบบปฏิบัติการอยู่นอกเหนือขอบเขตการควบคุมทางกฎหมาย และรัฐบาลไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่พายุจะถล่มหนักกว่านี้ ดูเหมือนว่ายูเออีจะรู้ดีถึงพิษสงจากการลงแดงของผู้เสพติดเทคโนโลยี บริษัท เอธิซาลัต (Etisalat) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการแบล็คเบอร์รีรายใหญ่สุดของยูเออีจึงออกมาปลอบใจว่า บริษัทยังมีผลิตภัณฑ์มือถือรุ่นใหม่และบริการใหม่ๆ ที่เป็นทางเลือกไว้ใช้แก้ขัดในระหว่างที่รัฐบาลและบริษัทเจ้าของแบล็คเบอร์รี่กำลังหามาตรการอุดช่องโหว่ด้านความมั่นคงร่วมกัน รวมถึงการพัฒนาโปรแกรมให้สอดคล้องกับกฎหมายด้านโทรคมนาคมในประเทศ

ด้านอีร์ฟาน เอลลัม เจ้าหน้าที่ด้านโทรคมนาคมจากบริษัท อัล อัล มาร์เก็ต วิเคราะห์ไว้อย่างน่าคิดว่า การที่ยูเออีระงับการใช้งานแบล็คเบอร์รี่อาจเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด เนื่องจากสมาร์ทโฟนยี่ห้อนี้ถือเป็นอุปกรณ์สื่อสารื้สำคัญในหลายบริษัทที่มีส่วนช่วยดึงดูดการลงทุนเข้ามาในประเทศ ที่สำคัญคำสั่งระงับบริการที่จะบังคับใช้กับกลุ่มชาวต่างชาติซึ่งเดินทางเข้ามาในสนามบินดูไบประมาณ 1 แสนคนต่อวันนั้นยังสุ่มเสี่ยงต่อการสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงของยูเออี ในฐานะศูนย์กลางธุรกิจในตะวันออกกลาง

ขณะที่องค์กรสื่อไร้พรมแดน (Reporters Without Borders หรือ RSF) โจมตีรัฐบาลยูเออีว่า ทางการจ้องจะเพิ่มความเข้มงวดกับการเซ็นเซอร์และการตรวจสอบข้อมูลภายในด้วยการระงับบริการของแบล็คเบอร์รี่ เนื่องจากรัฐบาลยูเออี ไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะกรองข้อมูลที่ส่งผ่านระบบส่งข้อความของบีบีได้

*BlackBerry Bold: เมื่อจุดแข็งกลายเป็นดาบสองคม

ทะมัดทะแมง แข็งแรง และมีสไตล์ คือรูปลักษณ์ภายนอกของแบล็คเบอร์รี่ซึ่งเป็นที่ "ต้องตา" ของบรรดานักธุรกิจหลายราย ขณะที่ระบบปฏิบัติการซึ่งทำงานผ่านเซิร์ฟเวอร์ในต่างแดนคือจุดแข็งที่ "ต้องใจ" ผู้ใช้งานทุกคน เนื่องจากแบล็คเบอร์รี่เป็นสมาร์ทโฟนรายเดียวที่ผูกขาดการให้บริการเซิร์ฟเวอร์ในต่างประเทศ ดังนั้น ผู้ใช้จึงมั่นใจได้ร้อยเปอร์เซนต์ว่าข้อมูลระดับ "ท็อป ซีเครต" ของพวกเขาจะถูกเก็บงำไว้เป็นความลับตลอดไป ตราบใดที่เจ้าของความลับไม่ปากโป้งซะเอง

ด้วยจุดเด่นข้างต้นทำให้แบล็คเบอร์รี่กลายเป็นที่สมาร์ทโฟนที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามทั้งในภาคธุรกิจที่ต้องการรับ-ส่งข้อมูลลับอย่างรวดเร็วและปลอดภัย รวมไปถึงผู้นำระดับโลกอย่างประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐ ซึ่งก็เป็นเจ้าของแบล็คเบอร์รี่เช่นกัน

ในทางกลับกัน คุณสมบัติความเป็นผู้เก็บงำความลับระดับตัวแม่ กลับกลายเป็นหอกข้างแคร่ของรัฐบาลในหลายๆ ประเทศเนื่องจากรหัสข้อมูลที่ถูกปิดไว้อย่างแน่นหนาราวกาวตราช้าง ทำให้กลุ่มคนหรือประชาชนที่ไม่พอใจรัฐบาลสามารถส่งข้อความโจมตี หรือระดมพลเพื่อประท้วงภายในเวลาอันรวดเร็ว ที่ร้ายกาจกว่านั้นคือ เจ้าสมาร์ทโฟนอัจฉริยะเครื่องนี้อาจเป็นอุปกรณ์ชั้นดีสำหรับผู้ประสงค์ร้ายที่ดันเป็นคนทันสมัย หัวไว และฉลาดเป็นกรดสบช่องใช้ส่งข้อมูลลับเพื่อก่อวินาศกรรม โดยไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนไหนไหวตัวทันจนกระทั่งเป็นเรื่องขึ้นมาได้

กลายเป็นว่างานนี้ แบล็คเบอร์รี่เจอตอเข้าอย่างจังไม่ต่างกับการขุดหลุมฝังตัวเอง เพราะจุดแข็งของระบบป้องกันรหัสข้อมูลที่ชื่อได้ว่าเก็บความลับได้ดีที่สุดในโลกได้กลายเป็นดาบสองคม ที่กลับมาทิ่มแทงตัวเองให้ต้องร้าวระบมกับสิ่งที่ตนสร้างขึ้นมากับมือ

*BlackBerry Curve: ลบเหลี่ยมส่วนแบ่งตลาด

สงครามปาดหน้าเค้กในตลาดสมาร์ทโฟนอาจลุกโชนขึ้นจากกระแสการแบนแบล็คเบอร์รี่ในครั้งนี้ก็เป็นได้ เมื่อปัจจุบัน แบล็คเบอร์รี่มีส่วนแบ่งในตลาดสมาร์ทโฟนมากเป็นอันดับสองรองจากโนเกียด้วยสัดส่วนที่ 20% โดยมีไอโฟนของแอปเปิลตามหายใจรดต้นคออยู่ที่ 15.9% ทว่าในกรณีนี้ โนเกียและไอโฟนอาจถือไพ่เหนือกว่า เพราะบริษัทไม่มีเงื่อนไขเก็บงำความลับด้านข้อมูลอย่างแบล็คเบอร์รี่ อีกทั้งสมาร์ทโฟนของทั้งสองค่ายนี้ยังมีช่องทางกอบโกยยอดขายเพิ่มเติมในประเทศที่แบล็คเบอร์รี่กำลังตกที่นั่งลำบาก

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ระบบการส่งอีเมลของแบล็คเบอร์รี่หรือการแชทบีบีเอ็มที่ฮิตติดลมบนอยู่ในขณะนี้ เป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักที่ช่วยให้บริษัทประสบความสำเร็จด้านการตลาด โดยในไตรมาสล่าสุด รีเสิร์ช อิน โมชั่น ทำรายได้ในตลาดต่างประเทศได้ 46% ของรายได้โดยรวม ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านี้ 31%

ทั้งนี้ แบล็คเบอร์รี่เปิดตัวในยูเออีเมื่อปี 5 ปีที่แล้ว และได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วเนื่องจากมีฟังก์ชั่นที่ตอบสนองการทำธุรกิจ แต่การแบนฟังก์ชั่นที่สำคัญที่สุดของแบล็คเบอร์รี่ในครั้งนี้อาจทำให้ศักยภาพของยูเออีในการเป็นศูนย์กลางธุรกิจของโลกถูกลดบทบาทลง ทว่ามีผู้สันทัดกรณีบางรายชี้ว่า การแบนแบล็คเบอร์รี่ในกลุ่มประเทศอาหรับอาจเป็นเรื่องขี้ประติ๋ว เนื่องจากจำนวนของผู้ใช้แบล็คเบอร์รี่ในยูเออีมีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับยอดผู้จดทะเบียนใช้บริการ 46 ล้านคนทั่วโลก จากการจัดจำหน่ายใน 175 ประเทศ

ดังนั้นแล้ว ยอดขายหรือบริการของแบล็คเบอร์รี่ในตลาดยูเออีที่ปรับตัวลดลงจึงไม่มีอะไรน่ากลัว แต่หากเป็นตลาดมือถือรายใหญ่ที่สุดในโลกอย่างจีนละก็ไม่แน่ เพราะจากสถิติยอดขายสมาร์ทโฟนในจีนช่วงไตรมาสแรกของปีนี้พุ่งสปีดติดจรวดไปแล้วถึง 90% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมีจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือมากที่สุดในโลกกว่า 773 ล้านคน

*BlackBerry Tour: แบล็คเบอร์รี่ระบาด ก่อการร้ายเป็นระบบ

หลังจากที่รีเสิร์ช อิน โมชั่น ตระเวนหว่านเมล็ดพันธุ์แบล็คเบอร์รี่ในหลายประเทศ อาณาเขตของภัยก่อการร้ายก็ขยายวงกว้างไปทั่วโลกด้วยเช่นกัน จากกรณีตัวอย่างภัยก่อการร้ายที่มีผู้ใช้ช่องทางสื่อสารออน์ไลน์ในเหตุวินาศกรรมนครมุมไบเมื่อปี 2551 ซึ่งกลุ่มผู้ก่อเหตุสามารถติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวจากโลกภายนอกอย่างใกล้ชิดผ่านแบล็คเบอร์รี่ ทั้งๆ ที่รัฐบาลอินเดียพยายามตามล้างตามเช็ดและปิดช่องทางการสื่อสารครบทุกเม็ดแล้วก็ตาม และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เองที่ได้เข้ามาตอกย้ำคำกล่าวที่ว่า พลังของเทคโนโลยีและสื่อออนไลน์นอกจากจะได้ผลกับวงการตลาดแล้ว ยังมีอิทธิพลอย่างมากต่อการบ่อนทำลายความมั่นคง

ผู้สังเกตการณ์บางกลุ่มกำลังขยับปรับเรตินาของดวงตาไปยังประเทศจีน หนึ่งในชาติที่จริงจังกับความมั่นคงมากที่สุด ทว่าพญามังกรยังคงมีท่าทีเป็นมิตรที่ดีกับแบล็คเบอร์รี่ หลังจากที่เพิ่งมีการวางจำหน่ายสมาร์ทโฟนยี่ห้อนี้ในประเทศอย่างเป็นทางการไปเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ผู้สันทัดกรณีไม่น้อยเชื่อว่า รัฐบาลจีนอาจเริ่มระแคะระคายว่า ชาวจีนรุ่นใหม่ที่มักแข็งข้อต่อกติกาทางสังคมอันเข้มงวดและนิยมการแสดงออกทางความเห็นอย่างเสรี อาจรู้ทางหนีทีไล่ของรัฐบาล จึงเลี่ยงการแสดงความเห็นทางอินเทอร์เน็ตที่ทางภาครัฐมักคัดกรองได้ง่าย และหันมาใช้แบล็คเบอร์รี่ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่รัฐบาลจีนยังไม่สามารถเจาะข้อมูลเข้าไปได้

สำหรับชะตากรรมของแบล็คเบอร์รี่ในสหรัฐอเมริกา ดินแดนที่คุ้นเคยกับคำว่าเสรีภาพมาแต่อ้อนแต่ออก ยังคงมีอนาคตที่สดใสและไปรุ่ง เพราะหลังจากที่ยูเออีออกมาประกาศระงับให้บริการแบล็คเบอร์รี่ คุณลุงแซมก็กางแขนปกป้องอย่างออกหน้าออกตา โดยพีเจ โครว์ลีย์ โฆษกของนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐแถลงว่า การที่ยูเออีและซาอุดิอาระเบียห้ามใช้บริการบางฟังค์ชั่นของแบล็คเบอร์รี่ถือเป็นแบบอย่างที่อันตราย ซึ่งสหรัฐเกรงว่าอาจมีหลายประเทศเอาเป็นเยี่ยงอย่าง และนั่นจะเท่ากับเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน รวมถึงการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลที่ขัดต่อเสรีภาพการสื่อสารข้อมูลในศตวรรษที่ 21

กระแสแบนแบล็คเบอร์รี่ที่เริ่มลุกลามไปยังหลายประเทศก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ใช้งานแบล็คเบอร์รี่ทั่วโลก ขณะที่สื่อบางสำนักตั้งข้อสังเกตเชิงหยิกแกมหยอกว่า ความเคลื่อนไหวครั้งนี้อาจเป็นเพราะรัฐบาลยูเออีและซาอุดิอาระเบียไม่ต้องการให้เยาวชนรุ่นใหม่มัวแต่สาละวนอยู่กับการส่งบีบีตั้งแต่เช้าจรดค่ำ เพราะเกรงว่าจะมีอาการ "แบล็คเบอร์รี่ ซินโดรม" ครอบงำกันทั้งบ้านทั้งเมือง

ชะตากรรมของแบล็คเบอร์รี่ที่ตกเป็นแพะรับบาปในวันนี้ อาจเป็นหนึ่งในตัวอย่างของยุคที่พัฒนาการทางเทคโนโลยีและจริยธรรมของคนในสังคมเคลื่อนไหวในทิศทางผกผัน ท่ามกลางการขยายตัวของเทคโนโลยีที่สูงส่ง แต่จิตใจของคนตกต่ำ และแม้ทุกวันนี้โลกจะมีช่องทางสื่อสารกันมากขึ้น แต่คนกลับเข้าใจกันน้อยลง จนกระทั่งถึงยุคที่สมาร์ทโฟนตกเป็นจำเลยสังคม ที่หากแบล็คเบอร์รี่จับพลัดจับพลูไปอยู่ในมือผู้ประสงค์ร้าย ภัยก่อการร้ายก็อาจเกิดขึ้นได้แค่ปลายนิ้วมือ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ