ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร KCAR ที่ “BBB+/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 8, 2012 14:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.กรุงไทยคาร์เร้นท์ แอนด์ ลีส (KCAR) ที่ระดับ “BBB+" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงคณะผู้บริหารของบริษัทที่มีประสบการณ์ในธุรกิจรถเช่า ความสามารถในการทำกำไรที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง และการจัดการความเสี่ยงจากการขายซากรถยนต์ที่มีประสิทธิภาพซึ่งปรากฏเป็นกำไรจากการขายสินทรัพย์ให้เช่าที่มีอย่างต่อเนื่อง ในการพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงสภาพคล่องทางการเงินซึ่งสนับสนุนโดยกระแสเงินสดของบริษัทที่มีความแน่นอนจากการมีรายได้จากสัญญาเช่าที่ส่วนใหญ่เป็นสัญญาเช่าระยะยาวด้วย

อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากการแข่งขันที่รุนแรงและความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้ารายใหญ่แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะมีการกระจายตัวที่ดีขึ้นก็ตาม นอกจากนี้ การขาดแคลนรถยนต์สำหรับส่งมอบจากปัญหาการผลิตที่ชะลอตัวจากเหตุอุทกภัยเมื่อปลายปี 2554 เป็นปัจจัยที่ทำให้การขยายฐานรถยนต์ให้เช่าของบริษัทต้องล่าช้าออกไป

ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" ของบริษัทอยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงสามารถดำรงสถานะทางการตลาดได้ต่อไปด้วยการรักษาฐานลูกค้าเดิมและขยายฐานลูกค้าใหม่ท่ามกลางภาวะการแข่งขันที่ทวีความรุนแรง และคาดว่าบริษัทจะรักษาระดับความสามารถในการทำกำไรโดยการควบคุมต้นทุนและมีกำไรที่ต่อเนื่องจากการขายสินทรัพย์ให้เช่า

ทริสเรทติ้งรายงานว่า KCAR ให้บริการรถยนต์เช่าดำเนินงานทั้งแบบระยะยาวและระยะสั้น เมื่อพิจารณาจากสินทรัพย์ให้เช่าสุทธิ บริษัทถือเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่อันดับ 3 จากจำนวนผู้ให้บริการ 30 รายในฐานข้อมูลของทริสเรทติ้ง หลังจากการปรับโครงสร้างเงินทุนและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปลายปี 2548 สินทรัพย์ให้เช่าสุทธิของบริษัทก็เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า จาก 1,283 ล้านบาทในปี 2547 เป็น 2,977 ล้านบาทในปี 2552 สินทรัพย์ให้เช่าสุทธิของบริษัทอยู่ในระดับประมาณ 3,000 ล้านบาทมาตั้งแต่ปี 2552 และ ณ สิ้นปี 2554 ก็อยู่ที่ระดับ 2,917 ล้านบาท

บริษัทมีรายได้จากการให้เช่ารถยนต์แบบระยะยาวคิดเป็นอัตราส่วน 95% ของรายได้ค่าเช่ารวมและคิดเป็น 54% ของรายได้รวม ณ สิ้นปี 2554 บริษัทมีรถยนต์ให้เช่า 6,407 คัน ลดลงจาก 6,568 คันในปี 2553 ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดแคลนรถยนต์ส่งมอบจากการชะลอการผลิตซึ่งเกิดจากผลกระทบของอุทกภัย จำนวน 92% ของรถยนต์ของบริษัทให้บริการภายใต้สัญญาเช่าระยะยาว และส่วนที่เหลือเป็นรถให้เช่าระยะสั้นและรถทดแทน

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ความสามารถในการหาลูกค้าใหม่และการรักษาฐานลูกค้าปัจจุบันเป็นสิ่งท้าทายสำหรับบริษัทในช่วงที่คู่แข่งดำเนินกลยุทธ์การแข่งขันด้านราคา อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้บริการรถเช่าที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยสนับสนุนความพยายามในการรักษาฐานธุรกิจของบริษัทเนื่องจากหน่วยงานต่าง ๆ เริ่มตระหนักถึงประโยชน์จากการใช้บริการรถเช่ามากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2553 ยังเปิดโอกาสให้บริษัทสามารถขยายขนาดสินทรัพย์ให้เช่าได้ด้วย อย่างไรก็ตาม วิกฤติอุทกภัยเมื่อปลายปีก่อนทำให้แผนการขยายธุรกิจของบริษัทต้องชะลอตัวลง บริษัทสามารถควบคุมผลกระทบจากน้ำท่วมที่มีต่อธุรกิจได้ค่อนข้างดี โดยมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย โดยมีรถยนต์เพียง 0.8% ของรถที่ให้บริการทั้งหมดที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม

ณ สิ้นปี 2554 อัตราส่วนของลูกหนี้เช่าดำเนินงานที่ค้างชำระมากกว่า 3 เดือนต่อลูกหนี้เช่าดำเนินงานทั้งหมดเพิ่มขึ้นจาก 3.4% เป็น 5.6% ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ลูกหนี้รายใหญ่รายหนึ่งจ่ายชำระหนี้ล่าช้า ประเด็นดังกล่าวเป็นปัญหาในเรื่องกระบวนการในการจ่ายชำระซึ่งไม่ได้เป็นผลมาจากปัญหาคุณภาพของลูกหนี้ ปัจจุบันลูกหนี้รายดังกล่าวจ่ายชำระหนี้เรียบร้อยแล้ว

KCAR มีความได้เปรียบในการแข่งขันจากการได้รับความร่วมมือทางธุรกิจจากบริษัทที่เกี่ยวข้อง บริษัทจัดซื้อรถยนต์ซึ่งเป็นสินทรัพย์ให้เช่าในสัดส่วนมากกว่า 60% ของรถยนต์ที่จัดซื้อทั้งปีผ่านตัวแทนจำหน่ายซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่คือตระกูลจันทรเสรีกุลเป็นเจ้าของ การจัดซื้อรถยนต์จากตัวแทนจำหน่ายของผู้ถือหุ้นใหญ่ทำให้บริษัทได้ประโยชน์ด้านข้อมูลเกี่ยวกับข้อเสนอพิเศษจากผู้ผลิตรถยนต์ซึ่งช่วยให้บริษัทจัดซื้อรถยนต์ให้เช่าในราคาที่ต่ำกว่า และนอกจากการมีศูนย์บริการทั่วประเทศกว่า 750 แห่งซึ่งบริษัททำสัญญาทางธุรกิจด้วยแล้ว บริษัทยังเป็นเจ้าของศูนย์บริการของตนเองซึ่งทำให้สามารถควบคุมต้นทุนการบำรุงรักษาที่ไม่จำเป็นอันอาจเกิดจากศูนย์บริการภายนอกด้วย

บริษัทจัดจำหน่ายรถยนต์ให้เช่าซึ่งหมดสัญญาเช่ากับลูกค้าแล้วผ่านทางบริษัทลูกคือ บริษัท กรุงไทย ออโตโมบิล จำกัด ด้วยประสบการณ์ของผู้บริหารของบริษัทกรุงไทย ออโตโมบิลและการได้รับการรับรองคุณภาพรถยนต์ใช้แล้วภายใต้โครงการ “โตโยต้าชัวร์" ช่วยให้บริษัทสามารถจำหน่ายรถยนต์ให้เช่าที่หมดอายุสัญญาในราคาที่สูงกว่าการจำหน่ายผ่านตัวแทนรับประมูลทั่วไป ทำให้บริษัทมีกำไรจากการขายรถยนต์ที่หมดสัญญาเช่าอย่างต่อเนื่อง

บริษัทกรุงไทย ออโตโมบิลได้เปิดสาขาที่ 2 ที่ถนนศรีนครินทร์เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2554 โดยบริษัทคาดว่าจะสามารถเข้าถึงและขยายฐานลูกค้าในฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตาม บริษัทกรุงไทย ออโตโมบิลจำเป็นต้องปิดสำนักงานใหญ่ที่ถนนกาญจนาภิเษกเป็นเวลา 2 เดือนครึ่งจากเหตุอุทกภัย เป็นผลทำให้ยอดขายรถยนต์มือสองลดลงจาก 385 ล้านบาทในปี 2553 เหลือ 378 ล้านบาทในปี 2554

บริษัทกรุงไทย ออโตโมบิลมีแผนการจะเปิดสาขาที่ 3 ที่ถนนพหลโยธินในช่วงเดือนธันวาคม 2555 เพื่อขยายฐานลูกค้าทางตอนเหนือของกรุงเทพมหานคร ซึ่งสาขาใหม่จะเน้นขายรถยนต์ขนาดกลางและรถยนต์ที่มีราคาค่อนข้างสูง ทั้งนี้ สัดส่วนกำไรจากธุรกิจการขายรถยนต์มือสองจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคตเมื่อทั้ง 3 สาขาสร้างรายได้เต็มปีในปี 2556 กำไรขั้นต้นจากธุรกิจให้เช่ารถยนต์ลดลงจาก 26.7% ในปี 2549 เป็น 16.5% ในปี 2553 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการแข่งขันที่รุนแรงผนวกกับผลกระทบจากนโยบายค่าเสื่อมราคาแบบอนุรักษ์นิยมในช่วงการขยายธุรกิจในปี 2549-2553

KCAR มีกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นเป็น 19.1% ในปี 2554 แต่ลดลงเป็น 18.5% สำหรับครึ่งแรกของปี 2555 นโยบายค่าเสื่อมราคาแบบอนุรักษ์นิยมจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทเมื่อมีการจำหน่ายสินทรัพย์ให้เช่าที่หมดอายุสัญญาแล้ว โดยจะสะท้อนในกำไรจากการขายสินทรัพย์ให้เช่า ทั้งนี้ การควบคุมต้นทุนการดำเนินงานและกำไรที่ได้รับเพิ่มจากธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์มือสองยังช่วยเสริมความสามารถในการทำกำไรของบริษัทด้วย

บริษัทได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี 2 รายการ คือการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งทำให้ได้รับสิทธิประโยชน์จากการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเพียง 25% จาก 30% และการนำค่าใช้จ่าย 25% จากการซื้อสินทรัพย์เพื่อการลงทุนมาหักก่อนคำนวณภาษีได้ 5 รอบบัญชี ซึ่งสิทธิประโยชน์ทั้ง 2 ประการนี้สามารถใช้ได้ในระหว่างปี 2549-2553 ดังนั้น ในปี 2554 บริษัทจึงต้องเสียภาษีเต็มจำนวน ทำให้บริษัทมีกำไรสุทธิ 325 ล้านบาท ลดลง 6.1% จาก 346 ล้านบาทในปี 2553

ในครึ่งแรกของปี 2555 กำไรได้ปรับตัวดีขึ้นเป็น 213 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 23.1% จาก 173 ล้านบาทสำหรับครึ่งแรกของปี 2554 อัตราส่วนกำไรสุทธิต่อรายได้รวมลดลงเป็น 17.0% ในปี 2554 จาก 18.6% ในปี 2553 ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 19.8% สำหรับครึ่งแรกของปี 2555 ในขณะที่อัตราส่วนกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยปรับลดลงเป็น 9.0% ในปี 2554 จาก 9.7% ในปี 2553 อัตราส่วนดังกล่าวปรับเพิ่มขึ้นเป็น 11.6% (ปรับเป็นตัวเลขเต็มปีแล้ว)

สำหรับผลประกอบการครึ่งแรกของปี 2555 ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทอยู่ในระดับค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง บริษัทมีฐานะสภาพคล่องและความยืดหยุ่นทางการเงินในระดับปานกลาง โดยมีสภาพคล่องที่เพียงพอที่ได้รับจากค่าเช่าอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ลักษณะของสินทรัพย์ให้เช่าซึ่งมีสภาพคล่องสูงในการจำหน่ายจะช่วยลดทอนความเสี่ยงด้านสภาพคล่องให้แก่บริษัทได้บางส่วน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ