(เพิ่มเติม) "ซีไอเอ็มบีฯ"ตั้งเป้า AUM ปี 59 โต 40%, ออกกองโกลบอล อินฟราสตรัคเจอร์ฯ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday January 28, 2016 13:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจุมพล สายมาลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล เปิดเผยแผนกลยุทธ์ในปี 59 ว่า บริษัทวางเป้าหมายสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร(AUM) ที่ 116,620 ล้านบาท เติบโต 40% จากปีก่อนที่มี AUM ที่ 82,805 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตจากธุรกิจกองทุนรวม 81,280 ล้านบาท ธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 34,604 ล้านบาท และธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล 736 ล้านบาท
"การตั้งเป้าหมายที่จะเติบโตขึ้นไปอยู่ระดับแสนล้านบาท และต้องขึ้นไปอยู่ในอันดับ Top 10 ของอุตสาหกรรมบริษัทจัดการ นับเป็นเป้าหมายที่ท่าทายอย่างมาก"นายจุมพล กล่าว

ในปี 58 ที่ผ่านมา ภาพรวมผลการดำเนินงานมีอัตราเติบโตกว่า 112% จากปี 57 ที่มี AUM กว่า 43,758 ล้านบาท และทำให้อันดับของบริษัทปรับขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 12 จาก 14 โดยเป็นการเติบโตจากธุรกิจกองทุนรวม มี AUM อยู่ที่ 53,297 ล้านบาท เติบโต 97%YoY ถือเป็นการเติบโตอันดับหนึ่งในกลุ่มธุรกิจกองทุนรวมในปี 58 โดยอันดับปรับเพิ่มมาอยู่ในอันดับที่ 10 ก้าวกระโดดจากอันดับที่ 15 และมาจากการเติบโตธุรกิจกองทุนรวมเลี้ยงชีพ ที่มี AUM อยู่ที่ 28,719 ล้านบาท เติบโตกว่า 145% YoY

นายจุมพล กล่าววา แผนธุรกิจในปีนี้ยังคงเน้นการเติบโตจากธุรกิจกองทุนรวมที่เน้นคัดสรรผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่าง และมีธีมการลงทุนที่เด่นชัดเหมาะสมกับการลงทุนในปีนี้ และ ธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะยังคงเน้นการเติบโตกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสมดุลตามอายุ (Target Date Retirement Provident Fund) จุดเด่นนนอยู่ที่นโยบายปรับสัดส่วนการลงทุนสมดุลตามอายุสมาชิกเพื่อการเกษียณอย่างมีคุณภาพ

ด้านนายวิน พรหมแพทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล มองว่าภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวระดับ 3.1%-3.4% จากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจสหรัฐฯจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งมีโอกาสที่เงินทุนจะไหลกลับเข้าลงทุนในสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ในขณะที่การฟื้นตัวของกลุ่มยูโรโซนและญี่ปุ่นยังคงใช้นโยบายเชิงผ่อนคลาย (QE) ต่อเนื่องและการคงอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาในขณะที่กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) เริ่มมีเสถียรภาพดีขึ้น โดยเน้นที่ภูมิภาคเอเชียเป็นหลักที่จะสามารถเติบโตได้ ส่วนกลุ่มประเทศละตินอเมริกาและตะวันออกกลางยังคงได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับลดลงส่งผลต่อเศรษฐกิจอ่อนแอ

อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวทางเศรษฐกิจจีนจะยังคงเป็นปัจจัยลบที่กระทบต่อภาพการลงทุนทั่วโลก โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตอยู่ในระดับประมาณ 6.3% (IMF, October 2015) ซึ่งมาจากถดถอยของการลงทุนภาครัฐและเอกชน ทำให้คาดการณ์ว่าทางการจีนจะเน้นการเพิ่มการบริโภคภาคครัวเรือน รวมถึงมีโอกาสที่ธนาคารกลางจีนจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยและอัตราส่วนเงินกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ลงเพื่อเป็นการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

ดังนั้น บริษัทจึงแนะนำการลงทุนเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ธีมการลงทุนที่มีการดำเนินนโยบายสวนกัน โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ เตรียมขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในขณะที่ภูมิภาคยุโรปและญี่ปุ่นคงนโนบายอัตราดอกเบี้ยต่ำและการทำ QE ต่อเนื่อง ส่วนธนาคารกลางอังกฤษเตรียมที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย และธนาคารกลางจีนมีแนวโน้มที่จะลดอัตราดอกเบี้ยลง ทำให้การลงทุนในปี 2016 ต้องเผชิญกับภาวะความผันผวน ส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนของภูมิภาคเอเชียแกว่งตัว ซึ่งกระทบต่อภาคการส่งออกและการค้าระหว่างประเทศ

ธีมการลงทุนที่ 2 เน้นกลยุทธ์เลือกหุ้นรายตัว ภายใต้ความไม่แน่นอนของการลงทุนการคัดเลือกการลงทุนเป็นสิ่งสำคัญ บริษัทจึงแนะนำกองทุนที่สร้างผลตอบแทนได้อย่างสม่ำเสมอ ได้แก่ กองทุนเปิดซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล โกลบอล ซิวเวอร์ เอจ (CIMB-Principal Global Silver Age Fund)ลงทุนในกลุ่มกลุ่มธุรกิจ‘Silver Age’ ที่เติบโตจากกำลังซื้อที่มีความมั่งคั่งและมีอำนาจการใช้จ่ายสูงเน้นธุรกิจที่เอื้อประโยชน์ต่อไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของกลุ่มเกษียณมั่งคั่งกลุ่มการแพทย์กลุ่มผลิตภัณฑ์ความงามกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว คาดหวังผลตอบแทน (Yield) 10-15%

กองทุนเปิดซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล ยูโรเปี้ยน อิควิตี้ (CIMB-Principal European Equity Fund)เน้นลงทุนในหุ้นพื้นฐานดีในภูมิภาคยุโรปที่มีแนวโน้มและศักยภาพการเติบโตสูงปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากมาตรการQE ของยุโรปที่ขยายเวลาการทำ QE ออกไปถึงเดือนมีนาคม 2017 ในวงเงินเดือนละ60,000 ล้านยูโร เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจและตลาดหุ้นยุโรปฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง คาดหวังผลตอบแทนที่ 10-15%

กองทุนเปิดซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล พร็อพเพอร์ตี้ อินคัม (CIMB-Principal Property Income Fund)ลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์REITsโดยกองทุนได้รับผลตอบแทนที่สม่ำเสมอจากเงินปันผลที่มาจากรายได้ค่าเช่าของสินทรัพย์ลงทุน โดยคาดหวังผลตอบแทนที่ 6-8%

และธีมการลงทุนที่ 3 ocus on Infrastructure การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นกลไกสำคัญที่แต่ละประเทศใช้เป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงในภาวะที่ตลาดลงทุนผันผวน การเลือกลงทุนในหุ้นกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานถือเป็นการลงทุนในกลุ่ม Defensive Play เนื่องจากให้อัตราผลตอบแทนที่สม่ำเสมอและมีโอกาสเติบโตตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะยาว

ดังนั้น บริษัทจึงเปิดตัวกองทุนเปิดซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล โกลบอล อินฟราสตรัคเจอร์ อิควิตี้ (CIMB-PRINCIPAL GIF) มูลค่ากองทุน 3,000 ล้านบาท เปิดเสนอขายในระหว่างวันที่ 1-5 ก.พ.59 ซึ่งจะลงทุนในกองทุน Lazard Global Listed Infrastructure Equity Fund ซึ่งบริหารโดย Lazard Asset Management ที่มีประสบการณ์บริหารกองทุนอินฟราสตรัคเจอร์มากว่า 10 ปี ภายใต้ธีมการลงทุน Preferred Infrastructure ด้วยสินทรัพย์การบริหารรวมกันกว่า 256,900 ล้านบาท (ณ 30 มิ.ย.58) โดยนับตั้งแต่จัดตั้งกองทุน 24 เม.ย.56 สร้างผลตอบแทน 14.8%ต่อปี และปี 58 มีผลตอบแทนบวก 9.6% ทั้งนี้ คาดผลตอบแทน 10-15% ต่อปี

กองทุน Lazard Global Listed Infrastructure Equity Fund มีนโยบายการลงทุนใน Preferred Infrastructure หรือกิจการด้านโครงสร้างสาธารณูปโภคทั่วโลกที่สร้างกำไรจากผลการดำเนินงานสูง กำไรต่อหุ้นเติบโตอย่างสม่ำเสมอ และไม่มีคู่แข่ง โดยจะคัดเลือกบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เช่น ทางด่วน สนามบิน เสาโทรคมนาคม ท่อส่งน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ จำนวน 25-30 บริษัทในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก

“การลงทุนใน Global Infrastructure สามารถสร้างผลตอบแทนที่น่าสนใจกว่าการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ เนื่องจากบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านโครงสร้างพื้นฐานนั้นไม่มีคู่แข่งทำให้ต้นทุนดำเนินงานต่ำและสร้างกำไรได้สูง จึงทำให้กองทุน Lazard Global Listed Infrastructure EquityFund ที่ CIMB-PRINCIPAL GIF เข้าไปลงทุนในหน่วยลงทุนนั้น จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุนที่ดี เหมาะกับการลงทุนในช่วงที่ตลาดเงินตลาดทุนของโลกอยู่ในภาวะผันผวนเป็นอย่างมาก" นายวิน กล่าว

นายวิม กล่าวว่า ราคาน้ำมันโลกยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กดดันตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นไทยที่มีน้ำหนักของหุ้นกลุ่มพลังงานอยู่มาก คาดว่าราคาน้ำมัน WTI อยู่ที่ 30-40 เหรียญ/บาร์เรลไปจนถึงไตรมาส 3/59 ขณะที่ตลาดหุ้นไทยมองว่าดัชนี SET ที่ 1,200 จุดรับรู้ข่าวร้ายไปมากแล้วทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ภัยแล้ง แต่ก็ยังมีปัจจัยการเมืองเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ระบุชัดเจนไม่เลื่อนโรดแมพที่กำหนดเลือกตั้งกลางปี 60 ซึ่งน่าจะเป็นบวก ขณะที่กำไรของบริษัทจดทะเบียน (EPS) ปีนี้จะเติบโต 8-10% เนื่องจากกลุ่มพลังงานเป็นตัวถ่วง และกลุ่มสื่อสารยังไม่ชัดเจน

ตลาดหุ้นไทยปีนี้น่าจะยังคงผันผวน แนะรอหาโอกาสลงทุน หรือเลือกหุ้นเป็นรายตัวใน 3 sector ได้แก่ 1. กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการลงทุนภาครัฐ คือ กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง และ กลุ่มวัสดุก่อสร้ง 2. กลุ่มท่องเที่ยว อาทิ สนามบิน ค้าปลีก โรงแรม สายการบินบางบริษัท 3. กลุ่มเกี่ยวกับสังคมผู้สูงอายุ เช่น โรงพยาบาล ประกันชีวิต เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ