KTAM เปิดกองตราสารหนี้ ตปท.6 เดือน เสนอขายถึง 8 พ.ย.59

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday November 2, 2016 12:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทย (KTAM) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการเปิดจำหน่ายกองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้ เอฟไอเอฟ 120 (KTFF120) อายุ 6 เดือน ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 8 พ.ย.59

กองทุนดังกล่าว เน้นลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ ประเภทเงินฝากประจำ Bank of China (Macau Branch) ประมาณอัตราผลตอบแทนของตราสาร (ต่อปี) 1.65% , PT Bank Rakyat Indonesia (Persero) Tbk ประมาณอัตราผลตอบแทนของตราสาร (ต่อปี) 1.85% , Agicultural Bank of CHINA ประมาณอัตราผลตอบแทนของตราสาร (ต่อปี) 1.64%, Ahli Bank QSC ประมาณอัตราผลตอบแทนของตราสาร (ต่อปี) 1.95% และ First Gulf Bank PJSC ประมาณอัตราผลตอบแทนของตราสาร (ต่อปี) 1.75%

ในสัดส่วนการลงทุนในแต่ละรายการ 20% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ประมาณผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุน 1.50% ต่อปี มีค่าใช้จ่ายของกองทุน 0.27% มีนโยบายการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ทั้งนี้ หากไม่สามารถลงทุนให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ เนื่องจากสภาวะตลาดมีการเปลี่ยนแปลงไป ผู้ลงทุนอาจไม่ได้รับผลตอบแทนตามอัตราที่โฆษณาไว้

นางชวินดา กล่าวว่า อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ในประเทศมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกช่วงอายุโดยเฉพาะอายุ 2-10 ปี เริ่มจากแรงขายทำกำไรในตราสารรุ่นอายุปานกลางก่อนการประมูลพันธบัตรรุ่นอายุ 5 ปี (LB226A) ก่อนจะมีแรงขายในตราสารอายุยาวในวันทำการสุดท้ายของสัปดาห์ที่ผ่านมา ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาและพันธบัตรฝั่งยุโรป โดยนักลงทุนต่างชาติเป็นยอดซื้อสุทธิจำนวน 6,863 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกช่วงอายุตามแรงขายทำกำไร หลังโอกาสในการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวมที่ออกมาดี GDP ไตรมาส 3 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 2 ปี ประกอบกับการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลฝั่งยุโรป และแนวโน้มผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่มีความชัดเจนมากขึ้น

โดยสรุปอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้อายุคงเหลือ 2 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1 bps. มาอยู่ที่ 0.85% ต่อปี อายุคงเหลือ 5 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7 bps. มาอยู่ที่ 1.32% ต่อปี และอายุคงเหลือ 10 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 11 bps.มาอยู่ที่ 1.85% ต่อปี

สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้จะเป็นแนวโน้มผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและเศรษฐกิจโลก แนวโน้มราคาน้ำมัน ผลกระทบของ Brexit ต่อ EU และสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ ส่วนปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตามจะเป็นความคืบหน้าของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนตุลาคม แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ทิศทางของการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนระหว่างประเทศ และการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ