"นกสกู๊ต" คาดรายได้ปีนี้โต 48% มาที่ 5.78 พันลบ. ก่อนเพิ่มเกือบเท่าตัวในปี 61 หนุนพลิกมีกำไร

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 2, 2017 16:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปิยะ ยอดมณี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกสกู๊ต ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.สายการบินนกแอร์ (NOK) เปิดเผยว่า ในปี 60 ตั้งเป้ารายได้ที่ 5,787 ล้านบาท เพิ่มจากปี 59 ที่มีรายได้ 3,895 ล้านบาท หรือ เติบโต 48% และในปี 61 ตั้งเป้ารายได้เพิ่มเป็น 9,714 ล้านบาท โดยจำนวนผู้โดยสารปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มมาเป็น 1,070,000 คน เพิ่มขึ้นราว 20% จากปีก่อนที่มีจำนวน 800,000 คน ส่วนอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (cabin factor) ปีนี้ตั้งเป้าที่ 81% จากปีก่อนอยู่ที่ 80%

โดยสัดส่วนผู้โดยสารจีนมีมากกว่า 90% ส่วนคนไทยมีเพียง 1% ที่มาจากเส้นทางไทเป แต่ปีนี้จะเข้ามาทำตลาดในไทยมากขึ้น ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนเป็น 5% และ 10% ในปี 61

ขณะที่ปีนี้คาดว่าสายการบินนกสกู๊ตยังขาดทุน 170 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่ขาดทุน 612 ล้านบาท เนื่องจากยังมีความเสี่ยงเรื่องราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งคาดราคาน้ำมันเบรนท์เฉลี่ย 70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากปีก่อนราคาอยู่ที่กว่า 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แต่ปีนี้จะมีการใช้งานเครื่องบินเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 11 ชั่วโมง/เครื่อง/วัน จากปีก่อนเฉลี่ย 9 ชั่วโมง/เครื่อง/ลำ และคาดว่าจะเริ่มมีกำไรในปี 61 หลังจากเปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อปลายปี 57

ทั้งนี้ ตามแผนงาน สายการบินนกสกู๊ต จะรับมอบเครื่องบิน โบอิ้ง 777-200 จำนวน 1 ลำ ในปลายปีนี้ รองรับการเปิดจุดบินใหม่ ในจีนอีก 1 เมืองจากปัจจุบันบินอยู่ 5 เมือง คือ เสิ่นหยาง เทียนจิน ชิงเต่า นานกิง และ ต้าเหลียน นอกจากนี้บินไปไทเป ในไต้หวัน

และในปี 61 จะรับมอบเครื่องบินโบอิ้ง 777-200 อีก 2 ลำ เพื่อรองรับเส้นทางญี่ปุ่น(นาริตะ และโอซาก้า) และเกาหลี (โซล)ตามแผนเดิมก่อนที่ไทยติดธงแดง ขององค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และมองจุดบินใหม่ที่อินเดียอีก 1 เมือง โดยเครื่องบินที่ใช้เป็นแบบเช่า ระยะเวลา 5 ปี เมื่อใช้ครบ 6-7 ลำหรือประมาณปี 61-62 จะเปลี่ยนรุ่นเครื่องบินใหม่ แต่ยังคงเน้นเครื่องบินแบบลำตัวกว้าง (wide body) ซึ่งปัจจุบันโบอิ้ง 777-200 ที่ใช้อยู่เป็นแบบลำตัวกว้าง จำนวนที่นั่ง 415 ที่นั่ง

ทั้งนี้ในส่วนสายการบินนกสกู๊ตคาดว่าจะได้รับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ (Re-AOC) จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)ในช่วงเดือนพ.ค.นี้. และทางการไทยจะหารือกับ ICAO ในเดือนก.ย.-ต.ค.นี้ในการปลดธงแดงของไทย

"หากทางการไทยยังไม่สามารถปลดธงแดงได้ แผนงานในปี 61 ก็คงทำไม่ได้ รวมทั้งคาดการณ์รายได้และกำไร" นายปิยะ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ