(เพิ่มเติม) BCPG คาดปี 61 ลงทุนราว 2 พันลบ.ทำโซลาร์รูฟท็อปราว 30-50 MW,วางเป้า 5 ปี ลงทุน 3 หมื่นลบ.หนุน EBITDA โตเฉลี่ยปีละ 20%

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday November 15, 2017 14:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.บีซีพีจี (BCPG) คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 2 พันล้านบาทในปี 61 เพื่อพัฒนาโซลาร์รูฟท็อปราว 30-50 เมกะวัตต์ (MW) พร้อมด้วยการซื้อขายไฟฟ้าผ่านอินเตอร์เน็ต (Internet of Energy) โดยใช้ Blockchain Technology มาบริหารจัดการ โดยส่วนหนึ่งจะดำเนินการภายในโครงการอสังหาริมทรัพย์ของ บมจ.แสนสิริ (SIRI) ขนาดรวมไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ซึ่งโครงการแรก อยู่ในพื้นที่ “Sansiri Town Sukhumvit 77" หรือ T77 ย่านสุขุมวิท 77 ซึ่งจะเริ่มในไตรมาส 1/61 โดยจะนับเป็นการพลิกโฉมใหม่ของธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย

"เราจะเป็นคนลงทุน System เทคโนโลยี ภายใต้ investment plan ของบางจาก retail ไม่ต้องควักเงิน แต่รอรับส่วนต่างประหยัดค่าไฟฟ้าก็จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการผลิตไฟฟ้าที่มีส่วนเกินและขายได้ เราจะเป็นคนขายไฟให้ community นั้น ๆ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคพลังงานได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ และมีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป"นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการ ของ BCPG กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ BCPG ได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือเบื้องต้น (MOU) กับ SIRI ในการพัฒนาโครงการชุมชนพลังงานสีเขียวอัจฉริยะ (Smart Green Energy Community) ในพื้นที่โครงการของ SIRI มีโครงการที่เข้าร่วม 5 โครงการแรก ประกอบด้วย โรงแรม 2 แห่ง คอมมูนิตี้มอลล์ โรงเรียนและโรงงานประเภทละ 1 แห่ง และมีโครงการอื่น ๆ กว่า 20 โครงการที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการ

นายบัณฑิต กล่าวว่า บริษัทวางแผนพัฒนาโครงการชุมชนพลังงานสีเขียวอัจฉริยะดังกล่าวในปี 61 ประมาณ 30-50 เมกะวัตต์ ด้วยเงินลงทุน 1-2 พันล้านบาท ซึ่งนอกจากโครงการของ SIRI แล้ว ยังอยู่ระหว่างการเจรจากับลูกค้าในกลุ่มอื่น ๆ เช่น กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาโรงงาน , บนหลังคาอาคารพาณิชย์ หรือซูเปอร์สโตร์ ตลอดจนในพื้นที่สถานีบริการน้ำมันของ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) รวมถึงผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายอื่น เป็นต้น

เบื้องต้นลูกค้าจะได้รับประโยชน์จากราคาค่าไฟฟ้าที่ต่ำลงราว 10% ขณะที่บริษัทคาดว่าจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ประมาณ 10% และคาดว่าจะคืนทุนราว 5-8 ปี จากการนำพลังงานหมุนเวียนมาสร้างสังคมสีเขียว (green society) ในที่พักอาศัย คอมมูนิตี้ มอลล์ อาคารสำนักงาน โดยเริ่มต้นจากการที่ผู้อยู่อาศัยหรือเจ้าของอาคารสถานที่สามารถผลิตไฟฟ้าและใช้เองภายในอาคาร จนกระทั่งขยายให้แต่ละอาคารสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนไฟฟ้าที่ตนเองผลิตได้ระหว่างกัน

นอกจากจะติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปแล้ว บริษัทจะพัฒนาระบบซื้อขายไฟฟ้า (Energy Trading) ของผู้อยู่อาศัยด้วยการซื้อขายไฟฟ้าทางอินเตอร์เน็ต (Internet of Energy) โดยการใช้ Blockchain Technology ที่จะทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่เคยเป็นเพียงผู้บริโภค สามารถทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าได้ด้วย

นอกจากนี้ บริษัทกำลังศึกษาและพัฒนาระบบสมาร์ท โฮม (Smart Home) สมาร์ทกริด (Smart Grid) สมาร์ท ซิตี้ (Smart City) และการบริหารจัดการพลังงาน (Demand Side Management) เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดด้วย

"บริษัทพร้อมแล้วที่จะกลับมารุกธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในประเทศอีกครั้ง แต่ในรูปแบบแตกต่างออกไปจากเดิม ถือเป็นการกลับบ้านโดยนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาพลิกโฉมธุรกิจพลังงานหมุนเวียนของประเทศ โดยให้ความสำคัญกับการเพิ่มมูลค่าของพลังงานผ่านธุรกิจการซื้อขายไฟ ผ่านอินเตอร์เน็ตและการบริหารจัดการพลังงาน นอกเหนือไปจากการเพิ่มจำนวนเมกะวัตต์จากการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนประเภทต่าง ๆ...บทบาทของเราที่จะเป็นผู้ขายไฟเป็นหนึ่งในเรื่องที่เราจะทำ แต่เรื่อง Hold sale เราก็ยังทำอยู่ ก็จะเป็นการเติบโตทั้งในส่วน conventional ก็ยังมีอยู่ บวกกับเรื่องนี้ ก็จะยัง maintain การเติบโตของ EBITDA ในปีหน้าได้ราว 20%"นายบัณฑิต กล่าว

นายบัณฑิต กล่าวอีกว่า บริษัทมีเงินที่จะรองรับการลงทุนในช่วง 5 ปี (ปี 61-65) ราว 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยผลักดันกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากธุรกิจหลัก ให้เติบโตเฉลี่ยปีละ 20% โดยในส่วนนี้จะรวมถึงเงินลงทุนที่รองรับการเข้าซื้อกิจการ (M&A) ที่บริษัทยังคงมองหาโอกาสการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั่วโลก ทั้งพลังงานลม ,แสงอาทิตย์ ,พลังความร้อนใต้พิภพ โดยตั้งเป้าหมายการลงทุนสำหรับแต่ละโครงการควรจะต้องมี IRR ในช่วง 10-15%

ปัจจุบัน บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนร่วมทุน 585 เมกะวัตต์ เทียบเท่ากำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 1,000 เมกะวัตต์ โดยในส่วนนี้เป็นกำลังการผลิตที่เดินเครื่องผลิตแล้ว 394 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือ 191 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างการพัฒนา ทั้งในญี่ปุ่น,ไทย,อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

สำหรับผลการดำเนินงานในปี 61 การเติบโตของ EBITDA จะมาจากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเต็มที่จากการเข้าลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลม ในฟิลิปปินส์ และการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานใต้พิภพ ในอินโดนีเซีย ได้เต็มปี รวมถึงจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ที่จะเริ่ม COD ในปีหน้า อีกราว 150 เมกะวัตต์ ได้แก่ โครงการโซลาร์ฟาร์มที่ร่วมกับองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก 9 เมกะวัตต์ , โครงการโซลาร์ฟาร์ม ญี่ปุ่น ราว 80-90 เมกะวัตต์ และโครงการโซลาร์รูฟท็อปอีก 30-50 เมกะวัตต์

ขณะเดียวกันบริษัทยังได้ร่วมกับพันธมิตรเพื่อเข้ายื่นข้อเสนอโครงการ SPP Hybrid Firm ที่รัฐบาลประกาศรับซื้อแล้ว และโครงการ VSPP Semi-Firm ที่รัฐบาลกำลังจะประกาศรับซื้อ โดยคาดหวังจะได้รับกำลังการผลิตรวมกันประมาณ 20-30 เมกะวัตต์

ส่วนผลการดำเนินงานในปีนี้ ยังคงเป็นไปตามเป้าหมาย โดยผลประกอบการในไตรมาส 3/60 นับว่าสามารถทำเป็นระดับสูงสุดของปีนี้ หลังจากที่รับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้าความร้อนใต้พิภพในอินโดนีเซียในไตรมาส 3 ซึ่งเป็นการคิดกำไรสำหรับ 9 เดือน ซึ่งหลังจากนี้ก็จะเป็นการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรในอัตราปกติ

"โรงไฟฟ้าอินโดนีเซียผลประกอบการที่ใส่ลงไปใน Q3 มีทั้ง Q1,Q2 ด้วย ถ้าจะดูต้องดู real performance ของโรงงานเป็นหลัก Q4 ก็จะเข้าตามเป้า ที่เป็น core profit"นายบัณฑิต กล่าว

อนึ่ง BCPG รายงานไตรมาส 3/60 มีกำไรสุทธิ 513.57 ล้านบาท หนุนให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มีกำไรสุทธิแล้ว 1.43 พันล้านบาท ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ปัจจุบันบริษัทมีมาร์เก็ตแคปราว 4.5 หมื่นล้านบาท และคาดว่ามาร์เก็ตแคปจะเพิ่มเป็นระดับ 5 หมื่นล้านบาทในปีหน้า ซึ่งเร็วกว่าแผนที่ตั้งเป้าหมายจะมีมาร์เก็ตแคประดังกล่าวภายใน 5 ปี หรือปี 65


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ