SCB เผยกำไรปี 62 ทรงตัวจากปี 61 หลังตั้งสำรองฯหนักกว่า 3.6 หมื่นลบ. เพิ่มกว่า 50% รับผลศก.ชะลอตัว ,NPL ใหม่เพิ่ม

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 20, 2020 11:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) แจ้งผลประกอบการปี 2562 มีกำไรสุทธิ 40,436 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.9% จากกำไรสุทธิ 40,068 ล้านบาทในปี 2561 โดยในช่วงไตรมาส 4/62 มีกำไรสุทธิ 5,506 ล้านบาท ลดลง 62.8% จากไตรมาสก่อน และลดลง 22.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นผลจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญจำนวนมาก โดยในไตรมาส 4/62 ตั้งสำรองฯ 9,608 ล้านบาท ส่งผลให้ทั้งปี 2562 ตั้งสำรองฯรวมจำนวน 36,211 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50.7% จากปีก่อน เป็นผลจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับพอร์ตสินเชื่อของธนาคาร ขณะที่มีอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคาร ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 อยู่ที่ 134%

สำหรับการตั้งสำรองฯที่ระดับ 36,211 ล้านบาท คิดเป็น 1.70% ของสินเชื่อรวม ซึ่งจำนวน 9,100 ล้านบาท เป็นสำรองที่ตั้งเพิ่มขึ้นจากระดับสำรองปกติจำนวน 27,111 ล้านบาท หรือ 1.27% ของสินเชื่อรวมในปี 2562 เพื่อใช้รองรับกับเหตุการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อการดำเนินงานในอนาคต ท่ามกลางสภาพศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง ทั้งนี้ ระดับสำรองปกติที่ 1.27% ของสินเชื่อรวมสูงกว่า 1.15% ในปี 2561 เป็นผลมาจากการเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ยอดสินเชื่อของธนาคาร (สุทธิจากรายได้รอตัดบัญชี) ลดลง 1.3% จากปีก่อน และ 1.7% จากไตรมาสก่อน โดยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ลดลง 9.0% จากปีก่อน และ 5.4% จากไตรมาสก่อน ,สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เพิ่มขึ้น 2.8% จากปีก่อน และ 0.1% จากไตรมาสก่อน , สินเชื่อบุคคลขยายตัว 4.0% จากปีก่อน และ 0.6% จากไตรมาสก่อน เป็นต้น

ทั้งนี้ ธนาคารได้มีการวางแผนเพื่อเตรียมรองรับกฎเกณฑ์ทางการทั้งในปัจจุบันและอนาคตผ่านแผนการบริหารเงินกองทุนระยะยาวไว้ล่วงหน้า โดยธนาคารเชื่อมั่นว่าสถานะของเงินกองทุนในปัจจุบันซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งและสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด ประกอบกับการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่อยู่ในระดับสูง จะสามารถรองรับผลกระทบเชิงลบหากมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นกับธนาคารหรือเศรษฐกิจของประเทศไทย

"จากความผันผวนของเศรษฐกิจธนาคารใช้หลักความระมัดระวังในการดำเนินธุรกิจโดยเฉพาะการเติบโตของสินเชื่อที่มุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อที่มีคุณภาพ จากการคาดการณ์ว่าสินเชื่อทั้งระบบจะเติบโตในระดับปานกลาง ธนาคารจะยังคงให้ความสำคัญต่อการปรับพอร์ตสินเชื่อไปสู่ธุรกิจที่ให้อัตราผลตอบแทนสูง การปล่อยสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัล และธุรกิจการบริหารจัดการความมั่งคั่ง พร้อมกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและบริหารจัดการต้นทุนค่าใช้จ่ายในด้านต่าง ๆ นอกจากนี้ จากความสำเร็จในการพัฒนาขีดความสามารถใหม่ ๆ ผ่านโครงการ Transformation ธนาคารกำลังนำขีดความสามารถดังกล่าวมาใช้ในเชิงรุกยิ่งขึ้น และทำงานร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจและฟินเทคชั้นนำในการพัฒนาธุรกิจในรูปแบบใหม่เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในระยะยาว"นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ของ SCB กล่าว

SCB ระบุว่า ในปี 2562 ธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรอง อยู่ที่จำนวน 95,560 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% จากปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นผลจากการรับรู้กำไรพิเศษจากการขายหุ้นในบมจ.ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต (SCBLIFE) ขณะที่มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเติบโต 3% จากปีก่อนเป็นจำนวน 99,402 ล้านบาท แม้ว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยในปี 2562 อยู่ในขาลง และยอดสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อน ธนาคารยังคงสามารถขยายฐานรายได้จากการปรับพอร์ตสินเชื่อด้วยการเพิ่มสัดส่วนของสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูง

รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 59% จากปีก่อน เป็นจำนวน 66,696 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากกำไรของเงินลงทุนที่เกิดจากการขายหุ้นของธนาคารในบมจ.ไทยพาณิชย์ประกันชีวิตในช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา หากไม่รวมกำไรพิเศษดังกล่าว รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเติบโต 2% จากปีก่อน โดยรายได้ประเภท recurring ปรับตัวดีขึ้น และในไตรมาสที่ 4 ธนาคารมีการรับรู้รายได้ใหม่จากความร่วมมือทางธุรกิจกับพันธมิตรด้านประกันชีวิต

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 9% จากปีก่อนเป็นจำนวน 70,538 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายครั้งเดียวในการตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงานตามกฎหมายแรงงานใหม่ และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับโครงการ Transformation ทั้งนี้ จากการเติบโตของรายได้รวมที่ 20% จากปีก่อน ทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ในปี 2562 ปรับลดลงมาเป็น 42.5%

อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) อยู่ที่ 3.41% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 เพิ่มขึ้นจากประมาณ 3% ในครึ่งแรกของปี การเพิ่มขึ้นของสินเชื่อด้อยคุณภาพสะท้อนถึงความท้าทายของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจอันเกิดจากความผันผวนของเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังและการที่ธนาคารใช้นโยบายระมัดระวังในการจัดชั้นลูกหนี้

ในปี 2562 ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง สินเชื่อด้อยคุณภาพเกิดใหม่โดยรวมเพิ่มขึ้นอย่างมากจากปีก่อนจากทุกกลุ่มธุรกิจยกเว้นสินเชื่อเคหะ ในไตรมาส 4/62 สินเชื่อด้อยคุณภาพเกิดใหม่ (ไม่รวมลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ 1 รายที่บันทึกเป็นสินเชื่อด้อยคุณภำพในไตรมาส 3/62) ยังคงอยู่ในระดับสูงเป็นผลจากการจัดชั้นลูกหนี้เชิงคุณภาพของลูกหนี้บางรายในกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งการด้อยคุณภาพของลูกหนี้ในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และกลุ่มลูกค้าบุคคลตามมาตรการจัดการสินเชื่อด้อยคุณภาพที่เข้มงวดขึ้นของธนาคาร

เงินกองทุนตามกฎหมายของธนาคาร ณ สิ้นปี 2562 อยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 18.1% ดังนั้น ภายหลังการขายหุ้นของธนาคารในบมจ.ไทยพาณิชย์ประกันชีวิตได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว คณะกรรมการธนาคารได้มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลพิเศษแก่ผู้ถือหุ้นในอัตรา 0.75 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้ เงินปันผลปกติจากการดำเนินงานของธนาคารประจำปี 2562 จะได้รับการพิจารณาและอนุมัติในวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2562 ในเดือนเมษายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ