TOP คาด H2/63 ไม่ขาดทุนสต็อกหลังราคาน้ำมันผ่านจุดต่ำสุด-ค่าการกลั่นใกล้เคียง Q1/63

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 19, 2020 12:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวพรพิมาน ศรีสัตบุษย์ ผู้จัดการ แผนกวางแผนการพาณิชย์ภายนอกประเทศ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) เปิดเผยว่า บริษัท คาดผลการดำเนินงานในครึ่งหลังปีนี้ จะพลิกกลับมามีกำไรจากสต็อกน้ำมัน (Stock gain) หรือไม่มีผลขาดทุนสต็อกน้ำมัน จากครึ่งปีแรกมีผลขาดทุนสต็อกน้ำมันอยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำมันน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2/63 ที่ปรับตัวลดลงไปอยู่ที่เฉลี่ยกว่า 30 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

ขณะที่คาดว่าครึ่งปีหลัง ราคาน้ำมันจะเคลื่อนไหวในกรอบ 40-45 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากดีมานด์ที่เพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ก็ประเมินล่าสุดว่าความต้องการใช้น้ำมันในปีนี้จะยังลดลง 8.1 ล้านบาร์เรล/วัน จากปีที่แล้ว ซึ่งความต้องการจะเริ่มทยอยฟื้นตัวและกลับมาเติบโตราว 5.2 ล้านบาร์เรล/วันในปี 64

อีกทั้งการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตรในช่วงที่ผ่านมา ทำให้กำลังการผลิตหายไปจากระบบ 9.7 ล้านบาร์เรล/วัน ตอบรับกับดีมานด์ในช่วงที่ผ่านมา แต่ในครึ่งปีหลังก็มีแนวโน้มที่กลุ่มโอเปกจะลดกำลังการผลิตน้อยลง จากเดิม 9.7 ล้านบาร์เรล/วัน เป็น 7.7 ล้านบาร์เรล/วัน ทำให้มองว่าอาจมีกำลังการผลิตกลับเข้ามาในระบบบางส่วน และกดดันต่อการฟื้นตัวของราคาน้ำมันในครึ่งปีหลังนี้

นางสาวพรพิมาน กล่าวว่า หลังจากที่หลายประเทศทยอยคลายล็อกจากมาตรการสกัดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้วทำให้เริ่มเห็นความต้องการใช้เพิ่มมากขึ้นในตลาดน้ำมันเบนซิน รวมถึงสต็อกเบนซินในสหรัฐฯ ก็มีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะในช่วงการขับขี่ในฤดูร้อน ส่วนน้ำมันอากาศยาน (JET) คาดว่าจะกลับมาได้ช้าที่สุด แม้จะเริ่มทยอยกลับมาได้บ้างแล้ว แต่จะเป็นการเดินทางในส่วนของภาครัฐและทหาร แต่การเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวน่าจะใช้เวลาอีกพักหนึ่ง

ส่วนตลาดน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตา ก็เริ่มเห็นตัวเลขภาคการผลิตและดัชนีต่าง ๆ ปรับตัวดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางฝั่งสหรัฐ จีน หรือยุโรป สะท้อนภาพเศรษฐกิจค่อย ๆ ฟื้นตัวดีขึ้น และทำให้ความต้องการน้ำมันดีเซลปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ตลาดน้ำมันเตาในช่วงกลางปีนี้ยังมีภาพค่อนข้างแข็งแกร่ง จากเป็นช่วงฤดูร้อนในประเทศตะวันออกกลาง ทำให้มีความต้องการน้ำมันเตากำมะถันสูง ค่อนข้างมาก สำหรับกลุ่มโรงไฟฟ้า แต่ในช่วงปลายปีก็อาจจะปรับตัวลดลง ขณะที่การใช้น้ำมันเตากำมะถันต่ำ สำหรับการเดินเรือคาดว่าจะมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี

ขณะที่ตลาดสารอะโรเมติกส์ ทั้งผลิตภัณฑ์พาราไซลีน (PX) และเบนซีน จะยังถูกกดอยู่จากสต็อกที่อยู่ในระดับสูง แต่เชื่อว่าความต้องการใช้จะค่อย ๆ ฟื้นตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลัง โดยคาดว่าสต็อกที่อยู่ในระดับสูงน่าจะลดลงมาในช่วง 1-2 เดือน รวมถึงยังต้องจับตาโรงกลั่นใหม่ของจีนที่จะเข้ามาในตลาดด้วย ส่วนตลาดน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน คาดน่าจะถูกกดดันอยู่ จากโรงงานแห่งใหม่ที่เข้ามาในตลาด ขณะเดียวกันตลาดยางมะตอย (Bitumen) น่าจะได้รับผลดีจากการสร้างถนนก็จะส่งผลต่อความต้องการใช้ยางมะตอยเพิ่มขึ้น

"crude oil เรียกได้ว่าได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ซึ่งจากนี้ไปจนถึงสิ้นปีจะเริ่มเห็นดีมานด์ค่อยๆ กลับมา คาดอาจเห็นทิศทางราคาน้ำมันที่ 40-45 เหรียญ/บาร์เรล, ธุรกิจโรงกลั่น น่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นมา แต่น้ำมันอากาศยาน น่าจะกลับมาช้ากว่าเพื่อน ส่วนธุรกิจอะโรเมติกส์ และน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน ก็เรียกได้ว่าครึ่งปีหลังนี้จะยังถูกกดันอยู่จากซัพพลายใหม่ที่จะเข้ามาในตลาด"นางสาวพรพิมาน กล่าว

นางสาวพรพิมาน คาดการณ์ว่าค่าการกลั่น (GRM) และกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่ม (GIM) ในครึ่งปีหลังนี้ คาดว่าจะทำได้ใกล้เคียงกับไตรมาส 1/63 ที่มีค่าการกลั่น GRM ไม่รวมผลกระทบจากสต็อกน้ำมัน อยู่ที่ระดับ 0.1 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และ GIM ไม่รวมผลกระทบจากสต็อกน้ำมัน ที่ 2.1 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากความเชื่อมั่นว่าความต้องการน้ำมันสำเร็จรูปจะกลับขึ้นมาดีในไตรมาส 4/63


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ