THAI มองทางรอดหน่วยงานรัฐที่ถือหุ้นต้องใส่เงินทุนเพิ่ม พร้อมเปิดแปลงหนี้เป็นทุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 25, 2021 15:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชาย เอี่ยมศิริ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการเงินและการบัญชี บมจ.การบินไทย (THAI) ยอมรับคงเป็นการยากหากจะมีผู้ถือหุ้นรายใหม่เข้ามา โดยในแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ มีแผนระดมทุน 5 หมื่นล้านบาท โดยครึ่งหนึ่งหรือจำนวน 2.5 หมื่นล้านบาทจะมาจากการระดมทุนจากผู้ถือหุ้นเดิมซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจา อย่างไรก็ดีจะไม่ให้หน่วยงานภาครัฐมีสัดส่วนถือหุ้นเกิน 50%เพื่อไม่ให้กลับมามีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ

ทั้งนี้ โครงสร้างผู้ถือหุ้น THAI ณ วันที่ 3 ก.ค.63 มีกระทรวงการคลัง ถือหุ้นใหญ่ที่ 47.86% กองทุนวายุภักษ์หนึ่ง 17.08% ธนาคารออมสิน ถือ 2.13%

ขณะที่เงินทุนอีกครึ่งหนึ่ง หรือ 2.5 หมื่นล้านบาทจะมาจากหนี้แปลงเป็นทุน และเงินกู้ โดยในแผนฟื้นฟูกิจการได้เปิดโอกาสให้เจ้าหนี้หุ้นกู้ที่มีมูลหนี้ราว 7.4 หมื่นล้านบาท และเจ้าหนี้สถาบันการเงิน ราว 2 หมื่นล้านบาทรวมแล้วประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยให้แปลงหนี้เป็นทุนไม่เกิน 50% หรือ 5 หมื่นล้านบาท ในราคาหุ้นละ 3.86 บาท ต่ำกว่าราคาพาร์ที่ 10 บาท ซึ่งหากแปลงเต็มสิทธิจะถือหุ้นในสัดส่วน 90% และสัดส่วนผู้ถือหุ้นเดิมเหลือ 10%

นายชาย กล่าวว่าการแปลงหนี้เป็นทุนก็เหมือนกับการลดทุนจดทะเบียน และจะช่วยล้างขาดทุนสะสมที่มีอยู่ 1.28 แสนล้านบาท แต่ก็ยังไม่รู้จะมีการแปลงหนี้เป็นทุนเท่าไร

"เราทำแบบนี้ในแผนฟื้นฟู แต่จะสำเร็จก็ต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ถือหุ้นรายเดิมและเจ้าหนี้" นายชาย กล่าว

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ THAI เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการปรับใช้โครงสร้างองค์กรใหม่ในวันที่ 1 พ.ค.นี้ว่า ภายหลังประกาศปิดรับสมัครพนักงานเข้าร่วมโครงการปรับโครงสร้างเมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา มีพนักงานแสดงความจำนงเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองรวมประมาณ 13,500 คน จากจำนวนพนักงานทั้งหมด 17,121 คน (ไม่รวม Outsource และพนักงานสำนักงานสาขาต่างประเทศ)

ขณะเดียวกัน ได้มีพนักงานอีกจำนวนหนึ่งสมัครเข้าโครงการ MSP B และ MSP C Block 1, 2 และ 3 ประมาณ 2,800 คน และยังมีพนักงานที่ไม่ได้ตัดสินใจแสดงความจำนง หรือเข้าร่วมโครงการ MSP ใดๆ อีกประมาณ 800 คน ซึ่งการบินไทยยืนยันว่าการปรับโครงสร้างใหม่นี้ มีเป้าหมายเพื่อลดความซ้ำซ้อน และปรับระดับการบังคังบัญชาให้คล่องตัวมากขึ้น

"พนักงานที่ยังไม่ได้แสดงความจำนงว่าจะเข้ากระบวนการกลั่นกรอง หรือไม่เข้าร่วมโครงการร่วมใจจาก ส่วนนี้เราก็ไม่ได้ไล่ใครออก เราไม่มีนโยบายเช่นนั้นอยู่แล้ว แต่เราจะต้องมาคุยกันว่าจะทำอย่างไรต่อไป คนดี คนเก่งจะต้องได้อยู่ต่อ ซึ่งระหว่างนี้เรากำลังอยู่ในขั้นตอนพิจารณากลั่นกรอง"

สำหรับพนักงานประมาณ 800 คนที่ยังไม่ได้ตัดสินใจนั้น หลังจากนี้จะต้องมาพิจารณาร่วมกันว่าสาเหตุเกิดจากอะไร ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. เกิดจากการเปรียบเทียบเงินเดือนระหว่างฐานเงินเดือนโครงสร้างเก่าและใหม่ อาจมองว่าไม่คุ้มค่าที่จะปรับเปลี่ยน 2.ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างใหม่ว่าจะเป็นอย่างไร และ 3.ต้องพิจารณาประวัติการทำงานที่ผ่านมา ว่าเป็นอย่างไร หากพบว่าทุจริตส่วนนี้ก็คงไม่ได้ไปต่อกับโครงสร้างใหม่

นายชาญศิลป์ ยังกล่าวอีกว่า พนักงานที่เข้าร่วมกระบวนการกลั่นกรอง จะใช้เวลากลั่นกรองระหว่างวันที่ 22 - 29 มี.ค.นี้ หลังจากนั้นจะประกาศผลวันที่ 1 เม.ย.2564 พร้อมสื่อสารให้พนักงานทราบว่าจะเปิดให้แสดงความจำนงรอบ 2 สำหรับกลุ่มฟ้าใหม่ ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่เปิดรับพนักงานทำงานชั่วคราว ในฝ่ายที่มีความต้องการพนักงานสูง เช่น พนักงานเป็นลูกเรือแต่ระหว่างนี้ยังไม่สามารถทำการบินได้ ต้องเข้าร่วมโครงการฟ้าใหม่ ทำงานในฝ่ายที่มีความต้องการพนักงานไปก่อน เป็นการทำงานชั่วคราว

"โครงสร้างองค์กรใหม่ที่เกิดขึ้นเราปรับลดผู้บริหารระดับสูงจาก 700 ตำแหน่ง เหลือราว 500 ตำแหน่ง ลดความซ้ำซ้อน เปิดฝ่ายใหม่ที่การบินไทยไม่เคยมีมาก่อน เช่น ดิจิทัล ฝ่ายกลยุทธ์องค์กร และฝ่ายคิดโครงการเพิ่มรายได้ ลดต้นทุน และการที่พนักงานบางส่วนไม่เข้ากระบวนการกลั่นกรอง ก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะถือเป็นส่วนน้อยหาก ก็สามารถทำงานร่วมกันภายใต้สัญญาเดิมได้"นายชาญศิลป์ กล่าว

ทั้งนี้ การบินไทยจะเจรจากับพนักงานที่ยังไม่ตัดสินใจเข้ากระบวนการ โดยเชื่อว่าท้ายที่สุดจะมีพนักงานที่เข้าร่วมกระบวนการกลั่นกรองสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ราว 1.4 หมื่นคน เป็นไปตามเป้าหมาย และเหลือพนักงานที่อาจมีความจำนงในการทำงานภายใต้สัญญาเก่าราว 600 คน ซึ่งถือเป็นจำนวนที่น้อยมากหากเทียบกับพนักงานทั้งหมด ดังนั้นจะไม่กระทบการทำงานในอนาคตของการบินไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ