ทริสฯ คงอันดับเครดิต ML ที่ BB ปรับแนวโน้มเป็น Stable จาก Negative

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 31, 2022 15:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.ไมด้า ลิสซิ่ง (ML) ที่ "BB" และเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น "Stable" หรือ "คงที่" จาก "Negative" หรือ "ลบ"

อันดับเครดิตของบริษัทถูกจำกัดโดยอันดับเครดิตของ บมจ.ไมด้า แอสเซ็ท (MIDA) (ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ "BB/Stable" จากทริสเรทติ้ง) ซึ่งสะท้อนคุณภาพเครดิตโดยรวมของกลุ่มไมด้า ทริสเรทติ้งประเมินสถานะของบริษัทเป็นบริษัทลูกเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญของบริษัทไมด้า แอสเซ็ท

สำหรับการปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น "Stable" หรือ "คงที่" นั้น เป็นไปตามแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทไมด้า แอสเซ็ท ซึ่งสะท้อนความกังวลที่ลดลงของการกู้ยืมใหม่เพื่อชำระหนี้เดิมของกลุ่ม MIDA ทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจหลักของ MIDA จะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทย

อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทยังคงอยู่ที่ระดับ "bbb-" โดยพิจารณารวมถึงสถานะฐานทุนที่แข็งแกร่งและความสามารถในการทำกำไรที่มีเสถียรภาพของบริษัท อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากสถานะทางการธุรกิจและภาพรวมของแหล่งเงินทุนในระดับปานกลาง

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

  • เป็นบริษัทลูกเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญของ MIDA อันดับเครดิตของบริษัทถูกจำกัดโดยอันดับเครดิตของ MIDA ซึ่งเป็นไปตาม "เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ" ของทริสเรทติ้ง โดยอันดับเครดิตของกลุ่มอยู่ที่ "bb" ซึ่งต่ำกว่าอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทที่ "bbb-" MIDA ถือหุ้น 46.98% ในบริษัท โดยมีการควบคุมการดำเนินกิจการของบริษัทโดยตรงผ่านการแต่งตั้งคณะกรรมการของบริษัท ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากทีมผู้บริหารของ MIDA

การบริหารจัดการด้านเงินทุนของทั้งสองบริษัทนั้นมีความเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด โดยมีหลักฐานการช่วยเหลือทางการเงินระหว่างกันตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เช่น มีเงินกู้ยืมระหว่างกันซึ่งบริษัทเป็นผู้ให้เงินกู้แก่ MIDA และการใช้สินทรัพย์ถาวรของ MIDA เป็นหลักประกันในการขอวงเงินกู้ยืมของบริษัทจากธนาคาร ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 บริษัทมีเงินให้กู้คงค้างแก่ MIDA เป็นจำนวนเงิน 792 ล้านบาท

ในภาพรวมของกลุ่มบริษัทนั้น บริษัทเป็นส่วนหนึ่งในการเติมเต็มกลยุทธ์การกระจายตัวของธุรกิจในกลุ่ม ธุรกิจลิสซิ่งของบริษัทที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพได้มีส่วนช่วยสนับสนุนผลประกอบการโดยรวมของกลุ่มได้ในระดับหนึ่งจากวัฏจักรธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และโรงแรมซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัทและได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ตั้งแต่ปี 2563

ถึงแม้ว่าทริสเรทติ้งจะคาดว่าบริษัทจะสามารถขยายสินเชื่อกลับไปสู่ระดับก่อนการระบาดของโรคโควิด 19 ใน 1-2 ปีข้างหน้าได้ แต่ผลประกอบการของกลุ่มยังคงได้รับแรงกดดันจากการฟื้นตัวของ MIDA ที่ช้ากว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 บริษัทมีสัดส่วนสินทรัพย์ ส่วนของผู้ถือหุ้น และรายได้รวมต่องบการเงินรวมของ MIDA ที่ระดับ 37.8%, 60.1%, และ 28.8% ตามลำดับ

  • ฐานทุนที่แข็งแรงและระดับหนี้ที่ต่ำระดับฐานทุนของบริษัทยังคงเป็นจุดแข็งสำหรับอันดับเครดิตของบริษัทและได้รับการประเมินอยู่ในระดับที่แข็งแรงมาก ระดับฐานทุนวัดจากอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงอยู่ที่ระดับ 50.8% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 เทียบกับ 51.3% ณ สิ้นปี 2564 อัตราส่วนดังกล่าวลดลงจากการกลับมาขยายสินเชื่อตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 เช่นเดียวกับผู้ประกอบการรายอื่น ระดับฐานทุนของบริษัทมีความแข็งแกร่งกว่าผู้ประกอบการรายอื่นและอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับคุณภาพความเสี่ยงด้านเครดิตของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ใช้แล้วของบริษัท

ในขณะเดียวกัน ระดับการก่อหนี้ของบริษัทก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อพิจารณาจากอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่ระดับ 0.98 เท่า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจาก 1.02 เท่า ณ สิ้นปี 2564 อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนในปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 3 เท่าตามเงื่อนไขในข้อกำหนดสิทธิของหุ้นกู้ โครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่งของบริษัทพิสูจน์ได้จากการมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนในระดับประมาณ 1 เท่าตลอดช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาฐานทุนที่แข็งแกร่งซึ่งประเมินจากอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงในระดับประมาณ 50% ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าบนสมมติฐานการเติบโตระดับปานกลาง

  • สถานะทางการตลาดอยู่ในระดับปานกลางแม้จะเริ่มกลับมาขยายสินเชื่อ อันดับเครดิตของบริษัทมีข้อจำกัดจากการมีสถานะทางการตลาดที่อยู่ในระดับปานกลาง ทั้งนี้ บริษัทให้สินเชื่อในตลาดเฉพาะกลุ่มซึ่งเน้นไปที่ตลาดรถกระบะใช้แล้ว สินเชื่อส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็กโดยอยู่ในช่วง 50,000-300,000 บาทต่อสัญญา บริษัทได้ชะลอการปล่อยสินเชื่อใหม่เหมือนกับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ทำให้สินเชื่อเช่าซื้อคงค้างของบริษัทปรับตัวลดลงจาก 3.1 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2561 สู่ 2.5 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 บริษัทได้กลับมาขยายสินเชื่อตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 ทำให้สินเชื่อคงค้างปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 2% เทียบกับสิ้นปีที่แล้ว ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะค่อย ๆ ขยายสินเชื่อคงค้างรวมจากการขยายตัวของสินเชื่อเช่าซื้อคงค้างที่อัตราการเติบโตประมาณ 5%-10% ต่อปี ในช่วงระหว่างปี 2565-2567
  • กำไรที่มีเสถียรภาพ บริษัทดำรงสถานะกำไรสุทธิอย่างมีเสถียรภาพที่ระดับประมาณ 100 ล้านบาทต่อปีในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา โดยผลประกอบการของบริษัทเป็นไปตามการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งด้วยกำไรสุทธิที่ 103 ล้านบาทในปี 2564 โดยกำไรสุทธิในครึ่งปีแรกของปี 2565 ลดลง 11% เมื่อเทียบกับปีก่อนมาจากค่าใช้จ่ายดำเนินกิจการที่ปรับเพิ่มขึ้นจากการกลับมาขยายสินเชื่อและต้นทุนทางการเงินที่ปรับเพิ่มขึ้น ความสามารถในการสร้างกำไรของบริษัทนั้นพิจารณาจากอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่น โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3.3%-3.5% ในปี 2561-2564

ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะควบคุมอัตราส่วนดังกล่าวให้อยู่ในระดับประมาณ 3.0% ใน 3 ปีข้างหน้า ซึ่งอยู่บนสมมติฐานที่บริษัทจะค่อย ๆ ขยายสินเชื่อรวมคงค้างสู่ระดับ 3.6-3.8 พันล้านบาท และค่าใช้จ่ายต่อรายได้อยู่ในสัดส่วน 45%-47% ในปี 2565-2567 ทริสเรทติ้งยังคาดการณ์ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของบริษัทจะอยู่ที่ระดับมากกว่า 7% ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของบริษัทปรับลดลงเหลือ 7.4% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 จากระดับ 8.3% ในปี 2564 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการมีสัดส่วนเงินให้กู้ยืมแก่บริษัทไมด้า แอสเซ็ทเพิ่มขึ้นซึ่งมีผลตอบแทนต่ำกว่าสินเชื่อเช่าซื้อในขณะที่มีต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น

  • คุณภาพสินทรัพย์น่าจะปรับตัวอ่อนลงท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน คุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทยังคงเป็นปัจจัยสำคัญต่ออันดับเครดิตบริษัทจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัทที่มีสถานะเครดิตที่มีความเสี่ยงสูงและการตั้งสำรองที่ค่อนข้างต่ำกว่าผู้ประกอบการรายอื่น ถึงแม้ว่าคุณภาพสินทรัพย์จะมีการปรับตัวดีขึ้นในปี 2564 แต่ทริสเรทติ้งก็คาดว่าคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทจะปรับตัวอ่อนลงตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปสอดคล้องกับผู้ประกอบการรายอื่นจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอ และภาวะเงินเฟ้อที่ยังปรับตัวเพิ่มขึ้น ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 อัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (Non-performing Loan -- NPL) ของบริษัทในส่วนเช่าซื้อปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 4.3% จากระดับ 3.6% ณ สิ้นปี 2564 สอดคล้องกับอัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตที่เกิดขึ้นใหม่ที่เพิ่มขึ้นเป็น 3.0% (ปรับเป็นตัวเลขเต็มปี) ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 จาก 0.7% ในปี 2564

ในขณะเดียวกัน อัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยยังคงอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับในอดีตโดยอยู่ที่ประมาณ 2.2% ในปี 2563-2564 แม้ว่าอัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยในครึ่งแรกของปี 2565 จะปรับตัวลดลงเป็น 1.3% (ปรับเป็นตัวเลขเต็มปี) แต่ทริสเรทติ้งยังคงมองว่าผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจะเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 และอยู่ในระดับสูงกว่า 2% เหมือนในอดีตที่ผ่านมา ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ที่ 89.7% โดยแม้ว่าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ 70% แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าผู้ประกอบการรายอื่น

  • ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่ควบคุมได้ ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทจะสามารถกู้ยืมใหม่เพื่อชำระหนี้เดิมของบริษัทได้ถึงแม้ว่าบริษัทจะมีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระจำนวนค่อนข้างมากใน 12-18 เดือนข้างหน้า บริษัทมีหุ้นกู้คงค้างที่จะครบกำหนดชำระจำนวน 725 ล้านบาทในเดือนเมษายน 2566 และ 325 ล้านบาทในเดือนธันวาคม 2566 บริษัทมีแผนในการกู้ยืมใหม่เพื่อชำระหนี้เดิมโดยการกู้ยืมจากสถาบันการเงินและออกหุ้นกู้ชุดใหม่ นอกจากนี้ จากประมาณการของบริษัท กระแสเงินสดรับจากการชำระเงินค่างวดของลูกหนี้นั้นคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.2 พันล้านบาทในช่วงเดือนสิงหาคม 2565 ถึงเดือนมิถุนายน 2566 จะเป็นแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมที่ช่วยลดทอนความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของบริษัท

สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งสำหรับช่วงระยะเวลาในปี 2565-2567 มีดังนี้

  • สินเชื่อเช่าซื้อใหม่จะขยายตัวที่ระดับ 5%-10% ต่อปี
  • ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับ 7%-8%
  • ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยจะอยู่ประมาณ 2%
  • อัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงจะอยู่ในระดับประมาณ 50%
  • ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้รวมจะอยู่ที่ระดับประมาณ 46%

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" ของบริษัทเป็นไปตามแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทแม่คือบริษัทไมด้า แอสเซ็ท

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามการเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตของ MIDA


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ