เอแบคโพลล์เผยดัชนีความสุขมวลรวมคนไทยปัจจุบันลดลง จากปมขัดแย้งการเมือง

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday October 4, 2009 14:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการ ศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์ และวิจัยความสุขชุมชน หรือ ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยได้ทำการสำรวจเรื่อง หลักแนวการใช้ชีวิตพอเพียง กับ ความสุขมวลรวมวันนี้ของประชาชนภายในประเทศ (Gross Domestic Happiness, GDH Indexes) ผลวิจัยพบว่า แนวโน้มความสุขมวลรวมของประชาชนคนไทยภายในประเทศหรือ ดัชนีชี้วัด จีดีเอช (GDH Indexes) โดยรวม ลดต่ำลงจาก 7.18 ในเดือนสิงหาคม มาอยู่ที่ 6.83 ในการสำรวจล่าสุด ที่วิเคราะห์จากผลวิจัยก่อนหน้านี้

เนื่องจาก สิ่งที่ทำให้คนไทยสุขน้อยลงมาจากความขัดแย้งวุ่นวายทางการเมืองที่มักจะมีปมใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอด และการที่ฝ่ายการเมืองกำลังมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนอาจทำให้สาธารณชนรู้สึกว่าปัญหาเดือดร้อนสารพัดปัญหาถูกละเลย เช่น ปัญหาปากท้อง ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปัญหาที่ทำกิน ปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ปัญหาอาชญากรรมและยาเสพติด ปัญหาสุขภาพกายและใจ ความเครียด และปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม เป็นต้น

และกลุ่มประชาชนที่ใช้ชีวิตพอเพียงมีค่าเฉลี่ยความสุขมวลรวม หรือ จีดีเอช (GDH) สูงกว่า กลุ่มคนที่ใช้ชีวิตแบบไม่พอเพียง คือ คนที่ใช้ชีวิตพอเพียงมีค่าเฉลี่ยความสุขอยู่ที่ 7.05 ในขณะที่กลุ่มคนที่ใช้ชีวิตไม่พอเพียงมีค่าความสุขอยู่ที่ 6.30 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน

นอกจากนี้ เมื่อถามถึงระดับความเชื่อมั่นที่จะอยู่รอดในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าการเมืองจะขัดแย้งรุนแรงบานปลาย เศรษฐกิจตกต่ำ และปัญหาสังคมมากมาย ผลวิจัยพบว่า ความเชื่อมั่นที่จะอยู่ได้ทุกสถานการณ์ของคนไทยโดยภาพรวมอยู่ที่ 5.85 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน และเมื่อวิเคราะห์ในรายละเอียดพบว่า กลุ่มคนที่ใช้ชีวิตพอเพียงมีความเชื่อมั่นว่าจะอยู่รอดได้ทุกสถานการณ์มากกว่า กลุ่มคนที่ใช้ชีวิตไม่พอเพียง คือ กลุ่มคนที่ใช้ชีวิตพอเพียงมีความเชื่อมั่นว่าจะอยู่รอดได้ทุกสถานการณ์เฉลี่ยอยู่ที่ 5.98 คะแนน ในขณะที่กลุ่มคนที่ใช้ชีวิตไม่พอเพียงมีความเชื่อมั่นเฉลี่ยเพียง 2.00 เท่านั้น

ทั้งนี้ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนใน 17 จังหวัดของประเทศได้แก่ กรุงเทพมหานคร อุตรดิตถ์ สุโขทัย เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ ปทุมธานี เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา กาญจนบุรี ชลบุรี หนองบัวลำภู สกลนคร ศรีสะเกษ ขอนแก่น ระนอง พัทลุง และสุราษฎร์ธานี จำนวนทั้งสิ้น 1,245 ครัวเรือน ดำเนินโครงการในวันที่ 3 ตุลาคม 2552


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ