ย้อนรอย 30 ปี"แบล็กมันเดย์" บทเรียนราคาแพงในตลาดหุ้นวอลล์สตรีท

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday October 19, 2017 20:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

วันนี้เมื่อ 30 ปีที่แล้ว หรือวันที่ 19 ต.ค.2530 เป็นวันที่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทดิ่งเหว ขณะที่นักลงทุนพากันเทขายหุ้นหนีตาย ส่งผลให้ดัชนีดาวโจนส์ทรุดตัวลง 508 จุด หรือร่วงลง 22.6% ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดภายในวันเดียวในประวัติศาสตร์ของตลาดหุ้นสหรัฐ

เหตุการณ์ดังกล่าว ถูกเรียกว่าวัน"แบล็กมันเดย์" หรือ"จันทร์ทมิฬ" เนื่องจากส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกต่างก็ดิ่งลงตามตลาดหุ้นสหรัฐ

หากเหตุการณ์แบล็กมันเดย์เกิดขึ้นในวันนี้ ก็จะเทียบเท่ากับการทรุดตัวลงของดัชนีดาวโจนส์ถึง 5,000 จุด ซึ่งเป็นช่วงการปรับตัวขึ้นของดาวโจนส์ในระยะ 18 เดือนที่ผ่านมา

หลังจากเกิดเหตุการณ์แบล็กมันเดย์ในปี 2530 เจ้าหน้าที่ในตลาดวอลล์สตรีทก็ได้หาทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยตลาดหุ้นพังครืนเหมือนในอดีต ด้วยการใช้ระบบ circuit breaker ที่จะ"ตัดก่อนตาย เตือนก่อนวายวอด" ด้วยการระงับการซื้อขายหุ้นเป็นระยะๆ หากทรุดตัวลงเป็นจำนวนเปอร์เซนต์ที่ได้กำหนดไว้ โดยตลาดหุ้นวอลล์สตรีทเริ่มบังคับใช้ระบบ circuit breaker ในปี 2532 แต่ก็มีการใช้จริงเพียง 1 ครั้งในวันที่ 27 ต.ค.2540 ในช่วงที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง

ถึงแม้เหตุการณ์แบล็กมันเดย์ได้เกิดขึ้นเมื่อ 30 ปีก่อน แต่นักวิเคราะห์ก็ได้เตือนว่า ประวัติศาสตร์อาจซ้ำรอยได้ไม่ช้าก็เร็ว เนื่องจากปัจจัยที่ทำให้เกิดการถล่มของตลาดหุ้นวอลล์สตรีทในขณะนั้น ก็กำลังเกิดขึ้นกับตลาดหุ้นในขณะนี้ ซึ่งได้แก่ 1) การที่ราคาหุ้นพุ่งขึ้นอย่างมากจนอาจจะเกินปัจจัยพื้นฐาน โดยราคาหุ้นทะยานขึ้นมากกว่า 40% ในปี 2530 ก่อนที่จะพังครืนลง 2) การแข็งค่าของดอลลาร์ และ 3) กลยุทธ์การทำประกันความเสี่ยง (เฮดจิ้ง) ของหุ้นในพอร์ทด้วยการเทขายดัชนีหุ้นในตลาดฟิวเจอร์ส


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ