Xinhua's Interview: อุตสาหกรรมฟินเทคจีนขยายตัวก้าวกระโดด รับแรงหนุนบริการการเงินดิจิทัลเติบโต

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 5, 2019 13:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อุตสาหกรรมเทคโนโลยีการเงิน หรือฟินเทค (fintech) ของจีนกำลังขยายตัวแบบก้าวกระโดด และการขยายตัวนั้นได้ถูกผลักดันโดยอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นสำหรับบริการการเงินดิจิทัล และนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีที่แข็งแกร่ง

นายเหย๋ ต้าชิง ผู้ร่วมก่อตั้ง ประธาน และ ซีอีโอของบริษัท Rong 360.com ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการค้นหาที่ให้บริการทางการเงิน กล่าวว่า "จีนเพิ่งเริ่มอุตสาหกรรมฟินเทคในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ผมเชื่อว่า ในทศวรรษหน้า จะเป็นทศวรรษของฟินเทค"

นายเหย๋เปิดเผยในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า ฟินเทคได้เจาะเข้าสู่บริการด้านการเงินที่หลากหลายในจีน เริ่มตั้งแต่การชำระเงินดิจิทัล การประกันดิจิทัล ไปจนถึงธนาคารออนไลน์ และ การบริหารความมั่งคั่งผ่านโทรศัพท์มือถือ

นายเหย๋ระบุว่า การขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมฟินเทคเป็นผลจากปัจจัยพื้นฐาน 2 ประการ ได้แก่ การขยายตัวอย่างรวดเร็วของการบริโภคทั่วประเทศ

"ประชาชนจำนวนมากขึ้นต้องการเข้าถึงสินเชื่อ และธุรกิจขนาดเล็กต้องการขยายธุรกิจและกู้ยืมเงินมากขึ้น" นายเหย๋กล่าว และเสริมว่า อุตสาหกรรมฟินเทคได้ประโยชน์จากการขยายตัวของชนชั้นกลางของจีน และมาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้นของพลเมืองจีนในชนบท ส่วนอีกปัจจัยนั้น ได้แก่ การที่จีนได้นำร่องในการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่เกี่ยวข้องมาใช้ในการให้บริการทางการเงินกับผู้บริโภค

ทั้งนี้ มุมมองของนายเหย๋ได้รับการสนับสนุนจากข้อมูลสถิติ โดยรายงานของเอินส์ท แอนด์ ยัง (อีวาย) ที่เปิดเผยเมื่อต้นเดือนนี้บ่งชี้ว่า จีนและอินเดีย มีอัตราการนำฟินเทคมาใช้สูงสุดในปี 2562

รายงานรอบ 2 ปีดังกล่าวบ่งชี้ว่า 87% ของผู้บริโภคผ่านระบบดิจิทัลในจีนใช้บริการฟินเทค ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจากระดับ 69% ในปี 2560

ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวที่ใช้ชื่อว่า "Global FinTech Adoption Index 2019" ซึ่งเป็นรายงานดัชนีการนำฟินเทคมาใช้ทั่วโลกในปีนี้นั้น ได้มาจากการสัมภาษณ์ผู้บริโภคมากกว่า 27,000 คนใน 27 ตลาด

นายเหย๋ตั้งข้อสังเกตว่า ตลาดฟินเทคของจีนให้ความสำคัญกับการค้าปลีก เนื่องจากการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ และการกู้เงินออนไลน์ได้กลายเป็นภาคธุรกิจหลักในอุตสาหกรรมฟินเทคของจีน

รายงานของอีวายยังบ่งชี้ด้วยว่า บริการที่ใช้ฟินเทคมากที่สุดทั่วโลกนั้นได้แก่บริการโอนเงินและชำระเงิน โดยผู้บริโภค 75% ใช้บริการดังกล่าวอย่างน้อย 1 ประเภท

ในประเทศจีนซึ่งมีการใช้แอพโอนเงินและชำระเงินอย่างแพร่หลายนั้น อัตราการนำฟินเทคมาใช้อยู่ที่ระดับ 95%

บริการที่ใช้ฟินเทคมากที่สุดได้แก่ บริการชำระเงินโดยตรง (peer-to-peer payments) บริการโอนเงินโดยไม่ผ่านธนาคาร และ บริการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือภายในร้านค้า

ในภาคธนาคาร นายเหย๋ระบุว่า สถาบันการเงินของจีนกำลังพัฒนานวัตกรรม ซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพาสาขาของธนาคาร และอำนวยความสะดวกในการตัดสินใจของลูกค้า

เขากล่าวว่า "สถาบันการเงินของจีนกำลังใช้จ่ายเงินมากขึ้นในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์อัจฉริยะ และจัดการความเสี่ยงได้ดีขึ้น"

"ยกตัวอย่างเช่น บางธนาคารต้องปรับการดำเนินงานตามความต้องการของลูกค้าเพื่อให้ประสบการณ์ที่ดีขึ้นกับผู้ใช้บริการ" โดยเขาระบุถึงการส่งมอบสินค้าและบริการที่มีการปรับปรุงเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เฉพาะเจาะจง

ธนาคารอินดัสเทรียล แอนด์ คอมเมอร์เชียล แบงก์ ออฟ ไชน่า ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐบาลที่ใหญ่ที่สุด ได้ใช้การระบุตัวตนด้วยลายนิ้วมือในการปฏิบัติการธนาคารบนโทรศัพท์มือถือ

ส่วนธนาคารไชน่า มินเชง แบงก์ ธนาคารแห่งชาติที่ก่อตั้งโดยทุนส่วนบุคคล ได้ใช้ บิ๊ก ดาต้า และการประมวลผลระบบคลาวด์ในการทำการตลาด และการบริหารความเสี่ยง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ