Analysis: ผู้เชี่ยวชาญอิตาลีชี้การสร้างเสถียรภาพในลิเบียสำคัญต่อการแก้วิกฤตผู้อพยพ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 21, 2015 15:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แนวทางในการแก้วิกฤตผู้อพยพได้กลายมาเป็นประเด็นสำคัญในอิตาลี หลังจากเกิดเหตุโศกนาฏกรรมเรือล่มที่คาดกันว่าจะส่งผลให้มีผู้อพยพหลายร้อยรายเสียชีวิตจากการจมน้ำในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ผู้เห็นเหตุการณ์ระบุว่า เรือยามชายฝั่งลำหนึ่งได้เดินทางมาถึงมอลตา พร้อมร่างผู้เสียชีวิต 24 รายและผู้รอดชีวิต 27 รายในเหตุการณ์เรืออับปาง ที่อาจจะคร่าชีวิตผู้อพยพมากถึง 900 ราย ขณะที่ทางการอิตาลีระบุว่านับเป็นความไร้ประสิทธิภาพของสหภาพยุโรป (EU) ที่ปล่อยให้อิตาลีจัดการกับวิกฤตผู้อพยพเพียงลำพัง

นายกรัฐมนตรีมัตโตโอ เรนซีของอิตาลี กล่าวย้ำว่า ปัญหาของลิเบียต้องได้รับการแก้ไข “จากสาเหตุที่เป็นรากเหง้า" ผู้อพยพกว่า 3,500 รายได้สังเวยชีวิตไปในความพยายามที่จะข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเมื่อปีที่แล้ว จากบริเวณชายแดนของลิเบียเพื่อเข้ามายังยุโรป โดยยอดผู้เสียชีวิตได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงต้นปีนี้

“กลุ่มผู้ลักลอบนำผู้อพยพเข้าเมืองได้ทำกำไรมหาศาลจากการเดินทางในลักษณะนี้ โดยคิดราคาหลายพันยูโรต่อผู้อพยพแต่ละราย ขณะที่ผู้อพยพส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากลิเบีย แต่มาจากเขตรอยต่อซาเฮลและแอฟริกาตะวันตก" นายฟรานเซสโก โทซาโต นักวิเคราะห์จาก Ce.S.I. Centre for International Studies ในกรุงโรมกล่าวกับซินหัว

เขาตั้งข้อสังเกตว่าลิเบียกำลังเผชิญปัญหาการมี 2 รัฐสภาที่เป็นอริกัน ซึ่งได้แก่ สภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับการยอมรับจากนานประเทศ และสภาแห่งชาติทั่วไปที่กลุ่มอิสลามให้การสนับสนุน “สถานการณ์ดังกล่าวบานปลายเกินการควบคุม และจำเป็นต้องมีแนวทางแก้ไขอย่างเร่งด่วนเพื่อจัดการประเด็นผู้อพยพ"

นายโทซาโตมองว่า การหารือกับเผ่าต่างๆ ซึ่งเป็นโครงสร้างหลักของสังคมลิเบียนั้น นับว่ามีความสำคัญ “ชาวลิเบียควรมีบทบาทหลักในความพยายามของนานาประเทศ เพื่อที่จะปรับโครงสร้างของประเทศลิเบีย พวกเขาควรมานั่งหารือร่วมกันและหาทางออกสำหรับอนาคตของลิเบีย"

นักวิเคราะห์รายนี้กล่าวว่า ลิเบียต้องการรัฐบาลที่มีความเป็นเอกภาพ ซึ่งจะสามารถปกครองประเทศด้วยกฎหมาย “การทำให้ลิเบียมีเสถียรภาพมากขึ้น ขณะที่ลาดตระเวณทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปควบคู่กัน เป็นเพียงทางเดียวสำหรับกลุ่มประเทศยุโรปที่จะยุติความหายนะจากการอพยพดังกล่าว"

ด้านนายมอริซิโอ สคาเลีย อัยการอิตาลีที่อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบการเดินทางเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายจากลิเบียมายังอิตาลี ระบุว่า มีผู้อพยพจำนวนมากถึง 1 ล้านคนที่พร้อมจะเดินทางออกจากชายฝั่งลิเบีย โดยคาดว่าจะมีการเดินทางกันจำนวนมากในช่วงฤดูร้อน

“ในช่วงต้นปี 2554 เราได้แนะนำอย่างจริงจังต่อประชาคมระหว่างประเทศแล้วว่าอย่าต่อต้านมูอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำลิเบียในขณะนั้น" นายอัลเฟรโด คาร์มิเน เซสตารี ประธานหอการค้าอิตาลีแอฟริกา หรือ Italafrica กล่าวกับซินหัว “เราต้องการให้ใช้แนวทางทางการทูตมากกว่า"

“ดังนั้น ลิเบียในปัจจุบันจึงไม่มีการควบคุมแนวชายแดน และไม่มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับอิตาลีและประเทศอื่นๆในยุโรป"

Italafrica ประเมินว่าบริษัทของอิตาลีที่ทำธุรกิจในลิเบียได้รับความเสียหาย 1 พันล้านยูโร (1.07 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เป็นอย่างน้อย

นายเซสตารีเน้นย้ำว่า “อิตาลีมีประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์ฉันท์มิตรกับลิเบีย แม้แต่ในช่วงที่เกิดความวุ่นวายในลิเบีย สถาบันต่างๆของอิตาลีก็ยังมีศักยภาพในการนำคณะทำงานระหว่างประเทศเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างชาวลิเบียและกับชาวลิเบีย

เขาสรุปว่า ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ หรือการทูตเชิงเศรษฐกิจ เป็นเพียงแนวทางที่เร่งด่วนเพียงประการเดียวที่จะจัดการประเด็นผู้อพยพ ก่อนที่จะเกิดโศกนาฏกรรมทางทะเลที่ร้ายแรงขึ้นอีก

บทวิเคราะห์โดย มาร์ซิอา เดอ กิอูลี จากสำนักข่าวซินหัว


แท็ก อิตาลี  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ