Analysis: เฟดขึ้นดอกเบี้ยท้าทายจีนในการปรับสมดุลนโยบาย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 18, 2015 14:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสัปดาห์นี้ได้สร้างความท้าทายต่อจีนในการปรับสมดุลนโยบายเพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเงินและหนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ในการประชุมนโยบายการเงินเมื่อวันพุธที่ผ่านมา เฟดมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% อยู่ในช่วง 0.25-0.50% ตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์กันไว้ โดยเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2549 ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณถึงการสิ้นสุดยุคของการผ่อนคลายทางการเงิน

สถานการณ์ทั้งในด้านการจ้างงานและเงินเฟ้อในสหรัฐได้ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ภาพรวมของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ต่างเผชิญกับการขยายตัวที่อ่อนแอและแนวโน้มที่ซบเซา

“คำถามสำคัญสำหรับจีนในปี 2559 อาจจะเป็นประเด็นที่ว่าจีนจะสามารถจัดการกับสัญญาณบ่งชี้ที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเงินในประเทศและต่างประเทศได้หรือไม่" นายแอนดรู คอลคูฮาวน์ ผู้อำนวยการฝ่ายอันดับเครดิตเอเชีย-แปซิฟิกของฟิทช์ เรทติ้งส์ กล่าว

เขากล่าวว่า หนี้สินภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นและอุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนแอในจีนจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย แต่ในขณะที่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในสหรัฐนั้น การลดดอกเบี้ยในจีนอาจจะกระตุ้นให้กระแสเงินทุนสะพัดออกไปยังแหล่งที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า

นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์กันในวงกว้างถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ และทุนสำรองเงินตราต่างประเทศและอัตราเงินหยวนของจีนได้มีการซึมซับผลกระทบส่วนใหญ่ไว้แล้ว โดยทุนสำรองของจีนในเดือนพ.ย.ลดลง 8.72 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการลดลงมากสุดเป็นอันดับ 2 เมื่อเทียบรายเดือนนับตั้งแต่ปี 2554 ขณะที่อัตราค่ากลางเงินหยวนเทียบดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเป็นวันที่ 9 ติดต่อกันเมื่อวานนี้ สู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 4 ปี

นายเจียง เฉา จากบริษัทไฮ่ตง ซิเคียวริตีส์ กล่าวว่า การดำเนินการของเฟดได้สร้างแรงกดดันต่อเงินหยวนและส่งผลกระทบต่อความเป็นไปได้ของจีนในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย กระแสการไหลออกของเงินทุนที่เลวร้ายลงอาจจะกระทบตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ย่ำแย่อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนที่ 6.9% ยังสูงกว่าประเทศรายใหญ่อื่นๆอยู่มาก และทุนสำรองของจีนก็ยังสูงกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งได้ช่วยบรรเทาผลกระทบที่รุนแรง

นายหวัง เตา นักเศรษฐศาสตร์จากยูบีเอส กล่าวว่า ธนาคารกลางจีนได้ส่งสัญญาณแล้วว่าตลาดควรพิจารณาถึงความแข็งแกร่งของเงินหยวนเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุล 13 สกุล ซึ่งรวมถึงดอลลาร์ ยูโรและเงินเยน โดยเป็นความเคลื่อนไหวที่จะทำให้เงินหยวนมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งจะทำให้หยวนมีความอ่อนไหวน้อยลงต่อนโยบายของเฟด

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยในสหรัฐสูงขึ้น จีนได้เผชิญแรงกดดันในการทำให้เศรษฐกิจมีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น และในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ โดยนายเจียงจากไห่ตงกล่าวว่า จีนควรเพิ่มผลตอบแทนของสินทรัพย์ภายในประเทศด้วยการสร้างเสถียรภาพด้านการขยายตัวและเร่งปฏิรูปเชิงโครงสร้าง เพื่อชดเชยความเสี่ยงจากการสะพัดออกของเงินทุน สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ