Analysis: ผู้เชี่ยวชาญแนะสหรัฐ-เกาหลีเหนือยกระดับการทูต ขณะเตรียมจัดประชุมซัมมิต"ทรัมป์-คิม"ครั้งที่ 2

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 21, 2019 15:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หลังจากเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ทางการสหรัฐได้ประกาศจัดการประชุมสุดยอดครั้งที่ 2 ระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐ และนายคิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็ได้ออกมาเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายเพิ่มความพยายามในการยกระดับความพยายามทางการทูต เพื่อบรรลุถึงเป้าหมายในการปลดอาวุธนิวเคลียร์ และแก้ไขประเด็นอื่นๆเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี

ภายหลังการพบหารือระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์ และนายคิม ยอง ชอล รองประธานคณะกรรมการกลางพรรคแรงงานเกาหลีที่ทำเนียบขาว นางซาราห์ แซนเดอร์ส โฆษกทำเนียบขาวได้ออกแถลงการณ์ว่า การประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำสหรัฐและเกาหลีเหนือจะเกิดขึ้นภายในช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้

แถลงการณ์ของโฆษกทำเนียบขาวระบุว่า "ประธานาธิบดีโดนัลด์ เจ. ทรัมป์ ได้พูดคุยกับนายคิม ยอง ชอล เป็นเวลา 1 ชั่วโมง 30 นาที โดยมีการหารือเกี่ยวกับการปลดอาวุธนิวเคลียร์และการประชุมสุดยอดครั้งที่ 2 ซึ่งจะเกิดขึ้นภายในช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์" และ "ประธานาธิบดีทรัมป์รอคอยที่จะได้พบกับประธานคิมอีกครั้งในการประชุม ซึ่งมีการจะประกาศวันและเวลาอย่างแน่ชัดออกมาในภายหลัง"

นายไคลีย์ เฟอร์ริเออร์ นักวิชาการด้านการศึกษาเกี่ยวกับเกาหลีได้กล่าวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า การเดินทางเยือนสหรัฐของนายคิม ยอง ชอล ในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ทั้งสองฝ่ายใกล้ที่จะทำข้อตกลงกันในรายละเอียดเกี่ยวกับการประชุมสุดยอดครั้งใหม่ระหว่างทรัมป์ และคิม จอง อึน ซึ่งเป็นการพบกันครั้งที่ 2 หลังจากที่มีการประชุมสุดยอประวัติศาสตร์ครั้งแรกเกิดขึ้นในสิงคโปร์เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว

เฟอร์ริเออร์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและการวิจัยของสถาบันเศรษฐกิจเกาหลีแห่งอเมริกา กล่าวว่า "แม้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าประเด็นใดจะได้รับการหยิบยกขึ้นมาเจรจาระหว่างการประชุมสุดยอดครั้งที่ 2 นี้ แต่การประชุมครั้งนี้จำเป็นจะต้องมีการยกระดับทางการทูตอย่างมีนัยสำคัญ"

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นาย คิม ยอง ชอล ซึ่งเดินทางถึงกรุงวอชิงตันเมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ผ่านมานั้น ได้มีการพบปะหารือที่ดีเยี่ยมกับนายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ พร้อมด้วยนายสตีเฟน บีกัน ผู้แทนพิเศษของสหรัฐประจำเกาหลีเหนือ ก่อนที่นายคิมจะเข้าพบประธานาธิบดีทรัมป์ที่ทำเนียบขาวในเวลาต่อมา

นายโรเบิร์ต พัลลาดิโน รองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐกล่าวในแถลงการณ์ว่า นายปอมเปโอ และนายคิม ยอง ชอล ได้หารือกันถึงความพยายามที่จะดำเนินการเพื่อต่อยอดจากการประชุมซัมมิตที่สิงคโปร์ และนายบีกันจะเดินทางไปยังกรุงสตอกโฮล์ม เมืองหลวงของสวีเดนในระหว่างวันเสาร์จนถึงวันอังคาร เพื่อร่วมการประชุมนานาชาติซึ่งจัดขึ้นโดยกระทรวงการต่างประเทศสวีเดน

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศสวีเดนยืนยันว่านางโช ซอน ฮุน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีเหนือได้เดินทางมายังกรุงสตอกโฮล์ม เพื่อพบปะกับหารือกับผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ แต่ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดใด ๆ เพิ่มเติม

นักวิชาการด้านการศึกษาเกี่ยวกับเกาหลียังย้ำว่า ความคืบหน้าทางการทูตระหว่างสหรัฐและเกาหลีเหนือ "อาจรวมถึงขั้นตอนของการริเริ่มการปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ เพื่อแลกกับการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐ"

นับจนถึงขณะนี้เกาหลีเหนือและสหรัฐอเมริกายังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่ชัดถึงขอบเขตของการปลดอาวุธนิวเคลียร์

รัฐบาลเกาหลีเหนือยืนยันว่า การปลดอาวุธนิวเคลียร์นั้นควรจะมีบริบทที่ครอบคลุมคาบสมุทรเกาหลีทั้งหมด และดำเนินการตามขั้นตอนสู่การบรรลุผลสำเร็จ ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐเรียกร้องให้เกาหลีเหนือปลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างเบ็ดเสร็จ, สามารถตรวจสอบได้และต้องไม่กลับไปทำอีก เพื่อแลกกับการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรต่อเกาหลีเหนือ ซึ่งรวมถึงมาตรการคว่ำบาตรที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ลงมติรับรอง และมาตรการคว่ำบาตรที่สหรัฐบังคับใช้เพียงฝ่ายเดียว

เฟอร์ริเออร์กล่าวด้วยว่า "อุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในกระบวนการปลดอาวุธนิวเคลียร์ในขณะนี้คือการผลักดันให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดยอมถอยออกมาคนละก้าว" พร้อมเสริมว่า "การประกาศจัดการประชุมสุดยอดครั้งที่ 2 แสดงให้เห็นว่า สหรัฐเปิดกว้างมากขึ้นต่อกระบวนการที่ดำเนินไปทีละขั้น ซึ่งจะช่วยให้การเจรจาดำเนินต่อไปได้"

ความคืบหน้าเชิงบวกได้ปรากฎให้เห็นจากทั้งฟากฝั่งของเกาหลีเหนือและสหรัฐ หลังการประชุมสุดยอดครั้งแรกที่สิงคโปร์ ซึ่งสหรัฐให้คำมั่นจะรับประกันความมั่นคงปลอดภัยให้กับเกาหลีเหนือ เพื่อตอบแทนความมุ่งมั่นของเกาหลีเหนือในการเดินหน้าปลดอาวุธนิวเคลียร์

นับตั้งแต่การประชุมสุดยอดครั้งแรก เกาหลีเหนือได้ระงับการทดสอบขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์เป็นการชั่วคราว ตลอดจนรื้อถอนฐานทดสอบขีปนาวุธตงชาง-รี และส่งคืนร่างทหารผ่านศึกชาวอเมริกันที่เสียชีวิตและถูกฝังไว้ในเกาหลีเหนือในช่วงสงคราม

ทางด้านสหรัฐได้สั่งระงับปฏิบัติการซ้อมรบร่วมทางทหารกับเกาหลีใต้ในบางภารกิจ และเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐส่งสัญญาณความตั้งใจที่จะลดข้อจำกัดด้านความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมที่กำหนดไว้สำหรับเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นการเปิดทางให้องค์กรความช่วยเหลือของสหรัฐและนานาชาติสามารถส่งความช่วยเหลือและเวชภัณฑ์เข้าไปในพื้นที่ได้ ตามข้อมูลจากรายงานของนิตยสาร Foreign Policy

อย่างไรก็ตาม การหารือระหว่างสหรัฐและเกาหลีเหนือได้ลดระดับลง หลังจากที่การประชุมสุดยอดที่สิงคโปร์ไม่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่มีนัยสำคัญ

นายแพทริก โครนิน นักวิชาการอาวุโสของสถาบันฮัดสันได้เขียนในบทความที่ตีพิมพ์เผยแพร่บนเว็บไซต์ของนิตยสาร Foreign Policy ว่า "ในช่วงเวลานี้ การทูตยังคงเป็นวิธีการที่ดีกว่าตัวเลือกอื่น และการพูดคุยสามารถบรรลุความสำเร็จมากกว่าผลประโยชน์ในเชิงสัญลักษณ์"

ขณะเดียวกันโครนิน ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานด้านการศึกษาความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของสถาบันฮัดสันซึ่งตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ยังกล่าวด้วยว่า ช่วงเวลานี้ถือเป็นเรื่องยากสำหรับสหรัฐและเกาหลีเหนือที่จะแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างกัน

"หลักการถ้อยทีถ้อยอาศัยนั้น เห็นผลในทางทฤษฎี แต่อาจไม่เห็นผลในทางปฎิบัติ เมื่อนำข้อตกลงสันติภาพและการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตร มาเปรียบเทียบกับการปลดอาวุธนิวเคลียร์" โครนินกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ