Analysis: ผู้เชี่ยวชาญชี้ข้อเสนอควบรวมกิจการระหว่าง"เฟียต-เรโนลต์"อาจพลิกโฉมวงการยานยนต์โลก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 28, 2019 13:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เรโนลต์ บริษัทผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติฝรั่งเศสเปิดเผยว่า บริษัทจะศึกษาข้อเสนอเกี่ยวกับการควบรวมกิจการของบริษัทเฟียต-ไครสเลอร์ ซึ่งเป็นบริษัทผลิตรถยนต์คู่แข่งของอิตาลี-สหรัฐ ซึ่งจะนำไปสู่ข้อตกลงที่อาจจะช่วยพลิกโฉมวงการอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลก

เฟียต-ไครสเลอร์ได้เสนอ "การควบรวมกิจการที่เท่าเทียมกัน" กับเรโนลต์เมื่อวานนี้ ซึ่งจะก่อให้เกิดผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับสามของโลก ซึ่งเป็นบริษัทจะที่มีสถานะที่สำคัญในตลาดทั่วโลก และในตลาดรถทุกประเภท ตั้งแต่รถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฮบริดไปจนถึงรถยนต์คอมแพค ตั้งแต่รถบรรทุกไปจนถึงรถยนต์หรูหรา

การควบรวมกิจการจะทำให้บริษัทที่เกิดจากการควบรวมจะทำให้เกิดความประหยัดต่อขนาด (economics of scale) ในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีสำหรับรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง เฟียตคาดว่า บริษัทที่ควบรวมกิจการกันจะช่วยประหยัดเงินได้มากกว่า 5 พันล้านยูโร (5.6 พันล้านดอลลาร์) ต่อปีผ่านการควบกิจการ

ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้นของแต่ละบริษัทจะเป็นเจ้าของหุ้นครึ่งหนึ่งของบริษัทที่ควบรวมกิจการ ซึ่งเฟียตระบุว่า จะผลิตรถยนต์ราว 8.7 ล้านคันต่อปี และจะมีเพียงบริษัทโฟล์คสวาเกนของเยอรมนี และโตโยต้าของญี่ปุ่นเท่านั้นที่จะมีขนาดใหญ่กว่าบริษัท

สำหรับขั้นตอนต่อไปนั้น เรโนลต์จะต้องตัดสินใจว่า จะแนะนำข้อเสนอดังกล่าวต่อผู้ถือหุ้นหรือไม่ และหากทำเช่นนั้น ก็จะขึ้นอยู่กับกลุ่มผู้ถือหุ้นจากสองบริษัทว่า จะลงมติรับ หรือไม่รับข้อตกลงดังกล่าว

นายมาร์โก ลีโอนาร์ดี นักเศรษฐศาสตร์ของแผนกวิจัยแรงงานและสวัสดิการของมหาวิทยาลัยรัฐแห่งมิลานระบุว่า ข้อตกลงดังกล่าวจะต้องพบกับอุปสรรคบางประการ เช่น เฟียต ระบุว่า บริษัทไม่จำเป็นจะต้องปิดโรงงานผลิตใดๆ แต่ก็ไม่ได้ระบุถึงความเป็นไปได้ที่พนักงานจะตกงาน

"มีคำถามด้วยว่า ใครจะรับผิดชอบ" นายลีโอนาร์ดีเปิดเผยกับซินหัว "เฟียตระบุว่าจะมีการควบรวมกิจการ 50-50 และคณะกรรมการจะประกอบด้วยกรรมการอิสระ แต่บางคนจะต้องเป็นประธานบริษัท และบุคคลนั้นจะมาจากเฟียต-ไครสเลอร์ หรือจากเรโนลต์ล่ะ"
นายโรเบอร์โต อัลฟองซี นักวิเคราะห์ภาครถยนต์ของเอบีเอส ซีเคียวริตีส์ เปิดเผยว่า มีปัญหาเรื่องบทบาทของรัฐบาลฝรั่งเศสในเรโนลต์ด้วย โดยบริษัทได้เริ่มแปรรูปเป็นของเอกชนในปี 2539 แต่รัฐบาลฝรั่งเศสก็ยังคงถือหุ้นอยู่ 15% นั่นหมายความว่า รัฐบาลฝรั่งเศสจะเป็นเจ้าของบริษัทที่ควบรวมกิจการแล้ว 7.5% ส่วนรัฐบาลอิตาลีไม่เคยถือหุ้นในบริษัทเฟียต

"กลุ่มผู้ถือหุ้นของเฟียตอาจจะระบุว่า จะไม่อนุมัติข้อตกลง นอกเสียจากว่า รัฐบาลอิตาลีจะถือหุ้นในรูปแบบเดียวกันในเฟียต หรือนอกเสียจากว่ารัฐบาลฝรั่งเศสจะขายหุ้นในเรโนลต์ออกมา" นายอัลฟองซีระบุในการให้สัมภาษณ์

ส่วนนายลีโอนาร์ดี กล่าวว่า แม้ว่าจะมีอุปสรรคบางประการ แต่ข้อตกลงดังกล่าวก็มีความเหมาะสม "โดยในทางภูมิศาสตร์ บริษัททั้งสองจะส่งเสริมซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในขณะที่สถานะของเฟียตในเอเชียยังไม่แข็งแกร่ง"

นายลีโอนาร์ดีระบุว่า นายเซอร์จิโอ มาร์คิโอเน่ นักธุรกิจอิตาลี-แคนาดาที่มีชื่อเสียง ซึ่งเป็นผู้นำการควบรวมกิจการของเฟียตกับไครสเลอร์ในปี 2557 และเป็นซีอีโอของบริษัทใหม่จนกระทั่งเสียชีวิตในปีที่แล้วนั้น ระบุว่า ตลาดโลกจะสนับสนุนผู้ผลิตรถยนต์ 6 รายใหญ่ในที่สุด

ในฐานะที่เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเดียว (standalone company) เฟียตถือเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดอันดับ 8 นำหน้าเรโนลต์อยู่ 1 อันดับ

นายลีโอนาร์ดี กล่าวว่า "การควบรวมกิจการนี้ หรือการควบรวมกิจการอื่นๆในขนาดเดียวกัน อาจจำเป็นสำหรับความอยู่รอดในระยะยาวของทั้งสองบริษัท"

นายอัลฟองซี กล่าวว่า การควบรวมกิจการดังกล่าวอาจกระตุ้นให้เกิดการควบรวมกิจการของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชั้นรองอื่นๆ ตามมา

ทั้งนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่าการควบรวมกิจการจะกระทบต่อการเป็นพันธมิตรของเรโนลต์กับบริษัทนิสสันและบริษัทมิตซูบิชิของญี่ปุ่นหรือไม่ ขณะที่สื่อรายงานว่า ในปีที่ผ่านมา เรโนลต์ได้เสนอควบรวมกิจการกับหุ้นส่วนสัญชาติญี่ปุ่น แต่ถูกปฎิเสธ

ราคาหุ้นของทั้งเฟียต-ไครสเลอร์ และเรโนลต์ พุ่งขึ้นจากข่าวการเสนอควบรวมกิจการดังกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ