ไฉซินเผย PMI ภาคการผลิตจีนชะลอตัวในเดือนเม.ย. เซ่นพิษกำแพงภาษีสหรัฐฯ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday April 30, 2025 10:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ไฉซิน/เอสแอนด์พี โกลบอล (Caixin/S&P Global) เปิดเผยผลสำรวจในวันนี้ (30 เม.ย.) ระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีน ลดลงมาอยู่ที่ 50.4 ในเดือนเม.ย. จาก 51.2 ในเดือนมี.ค. แม้ตัวเลขนี้จะยังดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 49.8 แต่ก็ถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.

ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่ระดับสูงกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว ส่วนดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าอยู่ในภาวะหดตัว

ผลสำรวจจากภาคเอกชนดังกล่าวแตกต่างจากข้อมูลทางการที่รัฐบาลจีนได้ประกาศออกมาในวันเดียวกัน โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตลดลงไปอยู่ที่ 49.0 ในเดือนเม.ย. จาก 50.5 ในเดือนมี.ค. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 49.8

นอกจากนี้ สำนักงานสถิติฯ ยังระบุว่า ดัชนี PMI ภาคบริการก็ปรับลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 50.4 ในเดือนเม.ย. จาก 50.8 ในเดือนมี.ค.

ผลสำรวจจากไฉซิน/เอสแอนด์พี โกลบอลสะท้อนว่า กำแพงภาษีของสหรัฐฯ กำลังส่งผลกระทบระลอกใหม่ต่ออุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่ของจีนอย่างชัดเจน ในขณะที่รัฐบาลปักกิ่งยังคงสงวนท่าที ไม่รีบออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ เนื่องจากประเมินว่าสงครามการค้าครั้งนี้มีแนวโน้มยืดเยื้อ

หวัง เจ๋อ นักเศรษฐศาสตร์จาก Caixin Insight Group ให้ความเห็นว่า ผลกระทบจากความขัดแย้งด้านภาษีระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่ยังคุกรุ่นอยู่นี้ จะค่อย ๆ แสดงผลชัดเจนขึ้นในไตรมาสที่สองและสาม ฝ่ายผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายจึงควรเตรียมรับมือให้ดี และควรลงมือแต่เนิ่น ๆ

ตามรายงานผลสำรวจฉบับนี้ อัตราการหดตัวของคำสั่งซื้อใหม่เพื่อการส่งออกในเดือนเม.ย.นั้นถือว่ารุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ค. 2566 ฉุดให้ยอดคำสั่งซื้อใหม่โดยรวมขยายตัวได้ช้าลงและเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

อย่างไรก็ดี การผลิตสินค้าในโรงงานยังคงขยายตัวได้อยู่ แม้ในอัตราที่ชะลอลงก็ตาม เนื่องจากโรงงานต่าง ๆ ยังคงเร่งผลิตตามคำสั่งซื้อทั้งที่ค้างอยู่และที่เพิ่งได้รับมาใหม่

ความไม่แน่นอนจากสงครามการค้ายังส่งผลให้ความเชื่อมั่นทางธุรกิจร่วงลงแตะระดับต่ำสุดเป็นอันดับสามนับตั้งแต่เริ่มมีการสำรวจในเดือนเม.ย. 2555 ทำให้บริษัทต่าง ๆ พากันปรับลดสต๊อกสินค้าลง

นอกจากนี้ ปัญหาติดขัดทางการค้าและข้อจำกัดด้านอุปทานยังทำให้ระยะเวลาในการรอสินค้าจากซัพพลายเออร์ยาวนานขึ้นเล็กน้อยในเดือนเม.ย. แต่ในทางกลับกัน การแข่งขันกันเองที่สูงขึ้นระหว่างผู้ขายท่ามกลางความต้องการวัตถุดิบที่ซบเซา ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบโดยเฉลี่ยปรับลดลงอีก

ตัวเลขการจ้างงานในภาคการผลิต ซึ่งเคยปรับตัวดีขึ้นในเดือนมี.ค. กลับพลิกร่วงลงในเดือนเม.ย. อันเป็นผลมาจากทั้งการลาออกของคนงานเอง และแผนปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อลดขนาดและควบคุมต้นทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ