ข้อมูลจากรัฐบาลสิงคโปร์ที่เปิดเผยในวันนี้ (16 พ.ค.) ระบุว่า ยอดส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมัน (NODX) ในเดือนเม.ย. พุ่งขึ้น 12.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 4.3% อย่างชัดเจน และยังเป็นการเติบโตต่อเนื่องจากเดือนมี.ค.ที่ขยายตัว 5.4% ตัวเลขนี้ถือเป็นสัญญาณบวกสำหรับเศรษฐกิจสิงคโปร์ที่พึ่งพาการค้าโลกสูง ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการค้าที่ยังคงมีอยู่
อย่างไรก็ดี แนวโน้มเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในฐานะศูนย์กลางการเงินยังคงคลุมเครือ จากการคาดการณ์ว่า การค้าโลกจะชะลอตัวลงจากผลพวงของมาตรการภาษีที่สหรัฐฯ บังคับใช้
เซเลนา หลิง นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคาร OCBC มองว่า ยอดส่งออกที่สูงในเดือนเม.ย. อาจมาจากการที่ลูกค้าเร่ง "สั่งซื้อสินค้าล่วงหน้า" (front-loading) เพื่อเลี่ยงผลกระทบจากความขัดแย้งทางการค้าที่อาจรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่สหรัฐฯ ยังไม่เก็บภาษี เธอมองว่าช่วงระงับมาตรการภาษีตอบโต้ระยะ 90 วันนี้เป็น "ช่วงเวลาโล่งอก" ก่อนที่สถานการณ์การเจรจาการค้าจะมีความชัดเจนกว่านี้
ทั้งนี้ สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีเศรษฐกิจเปิดกว้างที่สุดในโลก จึงมักถูกมองว่าเป็นดัชนีชี้วัดทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจโลก เพราะมูลค่าการค้าระหว่างประเทศนั้นใหญ่กว่าขนาดเศรษฐกิจในประเทศมาก
เพื่อรับมือผลกระทบทางการค้า เมื่อเดือนที่แล้วสิงคโปร์ได้ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อ "เสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ" โดยรัฐบาลยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย และได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้ลงเหลือ 0-2% จากเดิม 1-3%
เมื่อเทียบรายปี การส่งออกของสิงคโปร์ในเดือนเม.ย. ไปยังอินโดนีเซีย, ไต้หวัน, เกาหลีใต้, ฮ่องกง, ไทย, ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ส่วนการส่งออกไปมาเลเซียและจีนลดลง
ข้อมูลยังชี้ว่า การส่งออกทั้งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และที่ไม่ใช่อิเล็กทรอนิกส์ต่างก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น