กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่นเปิดเผยข้อมูลในวันนี้ (22 พ.ค.) ว่า ค่าจ้างที่แท้จริงเฉลี่ยต่อเดือนหลังหักผลกระทบเงินเฟ้อ ลดลง 0.5% ในปีงบประมาณ 2567 สิ้นสุดเดือนมี.ค. 2568 นับเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ซึ่งตอกย้ำว่าแม้เงินเดือนปรับขึ้น แต่ก็ยังไล่ไม่ทันอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นไม่หยุด
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า การทรุดตัวของค่าจ้างที่แท้จริง ซึ่งเป็นมาตรวัดสำคัญของกำลังซื้อภาคครัวเรือน สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายใหญ่หลวงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และสร้างความซับซ้อนให้กับเส้นทางการปรับนโยบายการเงินสู่ภาวะปกติของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) แม้ว่าค่าจ้างในรูปตัวเงินจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดก็ตาม
กระทรวงฯ เผยว่า ค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนในรูปตัวเงิน ซึ่งรวมโบนัสด้วยนั้น ขยับขึ้น 3.0% แตะ 349,388 เยน (2,400 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อเดือนในปีงบประมาณ 2567 นับเป็นการปรับขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 33 ปี
อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นดังกล่าวถูกบั่นทอนจากดัชนีราคาผู้บริโภค (ไม่รวมค่าที่พัก) ที่ทะยานขึ้นถึง 3.5% โดยดัชนีชี้วัดเงินเฟ้อซึ่งใช้คำนวณค่าจ้างที่แท้จริงด้วยนี้ สูงเกิน 3% ติดต่อกันเป็นปีที่ 3 แล้ว และยังคงสูงกว่าการเติบโตของค่าจ้างในรูปตัวเงินมาโดยตลอด
การหดตัว 0.5% ของค่าจ้างที่แท้จริงในปีงบประมาณ 2567 ถือว่าน้อยกว่าการติดลบ 2.2% ในปีงบประมาณ 2566 ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 โดยการหดตัวที่น้อยลงนี้เป็นผลมาจากการปรับขึ้นของค่าจ้างในรูปตัวเงินที่สูงขึ้นในปีที่ผ่านมา
แม้รัฐบาลพยายามผลักดันให้การเติบโตของค่าจ้างสูงกว่าเงินเฟ้ออย่างยั่งยืน แต่ค่าจ้างที่แท้จริงในกลุ่มธุรกิจที่มีลูกจ้าง 5 คนขึ้นไป กลับขยับขึ้นเมื่อเทียบรายปีเฉพาะในช่วงเดือนที่มีการจ่ายโบนัสเป็นปกติเท่านั้นคือ มิ.ย., ก.ค., พ.ย. และธ.ค.
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะ เพิ่งประกาศเป้าหมายระยะ 5 ปี ที่จะผลักดันให้ค่าจ้างที่แท้จริงทั่วประเทศเติบโต 1% ต่อปี โดยเน้นไปที่กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ซึ่งเป็นนายจ้างรายใหญ่ของประเทศ
สำหรับข้อมูลเฉพาะเดือนมี.ค.นั้น ค่าจ้างที่แท้จริงลดลง 1.8% จากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับตัวเลขดีขึ้นจากรายงานเบื้องต้นที่ระบุว่า ลดลง 2.1% เมื่อต้นเดือนซึ่งสะท้อนว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคยังคงอ่อนแอ