อัตราเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศยูโรโซนในเดือนมิ.ย. ได้ขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.0% ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตั้งไว้ ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 1.9% ในเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยจากราคาพลังงานและสินค้าอุตสาหกรรมที่ลดลง แต่ถูกชดเชยด้วยราคาในภาคบริการที่ปรับตัวสูงขึ้น
ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมราคาอาหารและพลังงานที่มีความผันผวนสูง ยังคงอยู่ที่ 2.3% ในเดือนมิ.ย.
การที่เงินเฟ้อชะลอตัวลงมาใกล้เป้าหมาย ทำให้ในช่วงปีที่ผ่านมา ECB ได้ทยอยลดอัตราดอกเบี้ยลงจากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์แล้ว 2% และขณะนี้กำลังเป็นที่ถกเถียงกันในหมู่ผู้กำหนดนโยบายว่า จำเป็นต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมอีกหรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้อัตราเงินเฟ้อต่ำเกินไป ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างเชื่องช้า
ประเด็นสำคัญที่น่าจับตาคือต้นทุนในภาคบริการ ซึ่งสูงต่อเนื่องมานานหลายปี และสร้างความกังวลว่าเงินเฟ้อภายในประเทศอาจจะยังคงสูงกว่าระดับ 2% ต่อไป โดยในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา เงินเฟ้อในภาคบริการได้ขยับขึ้นเป็น 3.3% จาก 3.2% ในเดือนก่อนหน้า
นักลงทุนในตลาดการเงินคาดการณ์ว่า ECB อาจจะลดดอกเบี้ยอีกหนึ่งครั้งในช่วงปลายปีนี้ มาอยู่ที่ระดับ 1.75% จากนั้นจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้สักระยะ ก่อนจะพิจารณาปรับขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายปี 2569
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มดังกล่าวยังมีความไม่แน่นอนสูง และขึ้นอยู่กับผลของข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหภาพยุโรป (EU) กับรัฐบาลสหรัฐฯ ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
ปัจจุบัน ข้อพิพาทนี้กลับช่วยลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อลง เนื่องจากส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ทำให้ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้น และราคาพลังงานลดต่ำลง ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจของยูโรโซนเองก็เติบโตในระดับที่ต่ำมาก โดยคาดว่าทั้งปีจะขยายตัวได้ไม่ถึง 1%
ทั้งนี้ หากสหรัฐฯ ยังคงใช้มาตรการกีดกันทางการค้าต่อไป และ EU ตอบโต้กลับ ก็มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดเงินเฟ้อสูงขึ้นได้ เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ จะต้องปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นในที่สุด