เงินเฟ้อที่โตเกียวร่วงหนักสุดในรอบกว่า 10 ปี ส่งสัญญาณเงินฝืดอีกรอบ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 25, 2020 10:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รัฐบาลญี่ปุ่นรายงานในวันนี้ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐานของกรุงโตเกียว ซึ่งรวมราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันแต่ไม่รวมราคาอาหารสด ปรับตัวลง 0.9% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดในรอบกว่า 10 ปีนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2553 ซึ่งขณะนั้นลดลง 1.0% และยังส่งสัญญาณถึงความเสี่ยงที่จะกลับมาเกิดภาวะเงินฝืดอีกครั้งอันเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ดัชนี CPI กรุงโตเกียวเดือนธ.ค. ปรับตัวลดลงมากกว่าการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่คาดไว้ว่าจะลดลง 0.8% และยังลดลงต่อเนื่องจากเดือนพ.ย. ซึ่งลดลง 0.7% ด้วย

ดัชนี CPI กรุงโตเกียวนั้นเป็นตัวบ่งชี้สำคัญที่สะท้อนถึงแนวโน้มราคาทั่วญี่ปุ่น ซึ่งนับว่าเป็นความท้าทายสำหรับผู้กำหนดนโยบายในการหามาตรการกระตุ้นการเติบโต หลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

การรายงานดัชนี CPI กรุงโตเกียวในวันนี้มีขึ้นหลังสำนักข่าวเกียวโดรายงานเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ดัชนี CPI ของญี่ปุ่นทั้งประเทศนั้นปรับตัวลง 0.9% ในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน และยังปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่ปลายปี 2553 ด้วย

ด้านธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ก็ได้ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ทางแบงก์ชาติจะตรวจสอบแนวทางต่างๆ เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ให้ได้

ส่วนอัตราว่างงานของญี่ปุ่นปรับตัวลงแตะ 2.9% ในเดือนพ.ย. โดยลดลงจากระดับ 3.1% ของเดือนต.ค. และยังดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ว่าจะอยู่ที่ 3.1% ขณะที่อัตราส่วนตำแหน่งงานต่อผู้สมัครงานอยู่ที่ 1.06 ในเดือนพ.ย. เพิ่มขึ้นจากระดับ 1.04 ในเดือนก่อนหน้านั้น

ทั้งนี้ สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นรายงานเมื่อต้นเดือนนี้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3/2563 ขยายตัว 22.9% ซึ่งดีกว่าตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่าขยายตัวเพียง 21.4%

นอกจากนี้ ตัวเลขประมาณการ GDP ล่าสุดยังออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ 21.5%

อย่างไรก็ดี การแพร่ระบาดรอบ 3 ของโรคโควิด-19 อาจเป็นปัจจัยฉุดเศรษฐกิจไม่ให้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ