เรียวเซ อากาซาวะ รัฐมนตรีฟื้นฟูเศรษฐกิจและหัวหน้าผู้เจรจาของญี่ปุ่น กล่าวในวันนี้ (9 พ.ค.) ว่า ญี่ปุ่นจะยังคงเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยกเลิกภาษีศุลกากรทั้งหมดที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กำหนดใช้กับญี่ปุ่น โดยถ้อยแถลงของอากาซาวะมีขึ้นหลังจากที่สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรบรรลุข้อตกลงการค้า ซึ่งภาษีบางรายการของทรัมป์ต่อสินค้านำเข้าจากสหราชอาณาจักรจะยังคงมีผลบังคับใช้
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า รัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดให้การยกเลิกภาษีศุลกากรตอบโต้ทั้งหมด รวมทั้งภาษีนำเข้ารถยนต์เพิ่มเติม 25% และภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม 25% เป็นเงื่อนไขในการบรรลุข้อตกลงกับรัฐบาลสหรัฐฯ โดยผู้แทนเจรจาทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะจัดการเจรจารอบที่สามในช่วงกลางเดือนพ.ค. หรือหลังจากนั้น
"จุดยืนของเรายังคงเหมือนเดิม คือ ญี่ปุ่นจะเรียกร้องให้สหรัฐฯ ทบทวนชุดมาตรการภาษีศุลกากร" อากาซาวะกล่าวภายหลังจากที่ปธน.ทรัมป์ประกาศข้อตกลงการค้ากับสหราชอาณาจักรเมื่อวันพฤหัสบดี (8 พ.ค.) ซึ่งถือเป็นข้อตกลงฉบับแรกที่สหรัฐฯ ทำกับประเทศคู่ค้า นับตั้งแต่ที่ปธน.ทรัมป์ประกาศมาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้กับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกในเดือนเม.ย.
ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว รัฐบาลสหรัฐฯ จะอนุญาตให้สหราชอาณาจักรส่งออกรถยนต์ 100,000 คันต่อปีสู่ตลาดสหรัฐฯ ด้วยอัตราภาษีศุลกากร 10% ซึ่งปรับลดลงจากที่ทรัมป์กำหนดไว้ 25% ขณะที่อัตราภาษีศุลกากรพื้นฐาน 10% ซึ่งทรัมป์เรียกเก็บจากเกือบทุกประเทศ รวมถึงสหราชอาณาจักร จะยังคงไม่เปลี่ยนแปลง
"ความพยายามในการยกเลิกภาษีนำเข้า 25% สำหรับรถยนต์ ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง" โยจิ มูโตะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าว เมื่อถูกถามว่าญี่ปุ่นจะพิจารณาขอโควตานำเข้าในอัตราภาษีที่ลดลงหรือไม่
"เราต้องการตรวจสอบเนื้อหาของข้อตกลงสหรัฐฯ-สหราชอาณาจักรอย่างรอบคอบ และพิจารณาตัดสินว่าสิ่งใดที่สามารถใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงสำหรับเราได้" เขากล่าว "เราต้องการทำอย่างดีที่สุดเพื่อบรรลุผลโดยเร็วที่สุด"
ด้านโยชิมาสะ ฮายาชิ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรี กล่าวว่า "จุดยืนและสถานการณ์ของแต่ละประเทศแตกต่างกัน และเป็นเรื่องธรรมดาที่การหารือกับสหรัฐฯ จะแตกต่างกัน"
ทั้งนี้ ในการเจรจาที่ผ่านมา ฝ่ายสหรัฐฯ แสดงความไม่พอใจเกี่ยวกับจำนวนรถยนต์ที่ญี่ปุ่นนำเข้ามาจากสหรัฐฯ อีกทั้งผลักดันให้ญี่ปุ่นเปิดตลาดรับพืชผลทางการเกษตรจากสหรัฐฯ มากขึ้น จากการเปิดเผยของแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับการเจรจา