สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ (21 ก.ค.) ว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ให้ความสำคัญกับคุณภาพของข้อตกลงการค้ามากกว่าการเร่งรัดให้ทันเส้นตายในวันที่ 1 ส.ค. พร้อมส่งสัญญาณว่าประเทศที่ยังไม่มีข้อตกลงภายในวันดังกล่าวอาจต้องเผชิญกับกำแพงภาษีในอัตราสูง
"เราจะไม่เร่งรีบทำข้อตกลงเพียงเพื่อให้มันเสร็จ ๆ ไป" เบสเซนต์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นบีซี
เบสเซนต์ระบุว่า ปธน.ทรัมป์จะเป็นผู้พิจารณาว่าจะขยายเส้นตายให้กับประเทศที่การเจรจามีความคืบหน้าหรือไม่
"ถ้าสุดท้ายแล้วยังต้องกลับไปใช้มาตรการภาษีในวันที่ 1 ส.ค. ผมคิดว่าการขึ้นภาษีในอัตราที่สูงขึ้นก็จะยิ่งสร้างแรงกดดันให้ประเทศเหล่านั้นยื่นข้อเสนอที่ดีกว่าเดิม" เบสเซนต์กล่าวท่าทีดังกล่าวของรัฐบาลสหรัฐฯ เกิดขึ้นท่ามกลางสงครามการค้าโลกที่ปธน.ทรัมป์เป็นผู้ริเริ่ม ซึ่งพุ่งเป้าไปยังคู่ค้าส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ โดยการเจรจากับเขตเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างสหภาพยุโรป (EU), อินเดีย และญี่ปุ่น กลับกลายเป็นเรื่องยากกว่าที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้มาก
คาโรไลน์ เลวิตต์ โฆษกทำเนียบขาวกล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันจันทร์ว่า รัฐบาลยังคงเดินหน้าเจรจากับนานาประเทศทั่วโลก พร้อมระบุว่าทรัมป์อาจหยิบยกประเด็นการค้าขึ้นมาหารือระหว่างการพบปะกับประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ แห่งฟิลิปปินส์ ที่ทำเนียบขาวในวันอังคาร (22 ก.ค.) แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อตกลงที่อยู่ระหว่างการเจรจา
เพื่อตอบโต้ท่าทีของสหรัฐฯ นักการทูตจาก EU เปิดเผยว่ากำลังพิจารณามาตรการตอบโต้ในวงกว้างมากขึ้น และเมื่อแนวโน้มที่จะบรรลุข้อตกลงที่ยอมรับได้เริ่มริบหรี่ลง สมาชิก EU จำนวนมากขึ้น รวมถึงเยอรมนี กำลังพิจารณาใช้มาตรการ "ตอบโต้การบีบบังคับ" (anti-coercion) ซึ่งจะอนุญาตให้กลุ่มสามารถพุ่งเป้าไปที่ภาคบริการของสหรัฐฯ หรือจำกัดการเข้าถึงการประมูลของภาครัฐได้
"การเจรจาเรื่องอัตราภาษีในขณะนี้กำลังเป็นไปอย่างเข้มข้น" ฟรีดริช แมร์ซ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี กล่าวในการแถลงข่าว "เป็นที่ชัดเจนว่าฝ่ายอเมริกันไม่เต็มใจที่จะยอมรับข้อตกลงด้านภาษีที่เท่าเทียมกันทั้งสองฝ่าย"
ในส่วนของจีนนั้น เบสเซนต์ประกาศว่า "การเจรจาจะมีขึ้นในเร็ว ๆ นี้" โดยระบุว่าการหารือจะครอบคลุมมากกว่าประเด็นการค้า เพื่อหารือไปถึงกรณีที่จีนสั่งซื้อน้ำมันจากอิหร่านและรัสเซียซึ่งถูกคว่ำบาตรเป็นจำนวนมาก รวมถึงปัญหากำลังการผลิตล้นตลาดในภาคอุตสาหกรรมอย่างเหล็กกล้า
แรงกดดันต่อคู่ค้าอื่น ๆ ของสหรัฐฯ ก็ปรากฏให้เห็นชัดเจนเช่นกัน โดยเรียวเซ อากาซาวะ หัวหน้าผู้แทนเจรจาด้านภาษีของญี่ปุ่นได้ออกเดินทางไปยังกรุงวอชิงตันเมื่อวันจันทร์ ซึ่งนับเป็นการเยือนครั้งที่ 8 ในรอบ 3 เดือน หลังพรรคฝ่ายรัฐบาลเพิ่งพ่ายแพ้การเลือกตั้งครั้งล่าสุด ซึ่งปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากความไม่พอใจของประชาชนต่อมาตรการภาษีของสหรัฐฯ
ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวในรัฐบาลอินเดียเปิดเผยว่า คณะผู้เจรจาการค้าของอินเดียได้เดินทางกลับกรุงนิวเดลีแล้ว หลังใช้เวลาเจรจาเกือบหนึ่งสัปดาห์ในวอชิงตัน ด้วยความหวังที่ริบหรี่ลงในการลงนามข้อตกลงการค้าชั่วคราวก่อนถึงเส้นตายวันที่ 1 ส.ค.นี้