Economic Watch: นักวิเคราะห์ชี้จีนควบคุมฟองสบู่ภาคอสังหาฯเริ่มได้ผล ช่วยหนุนเศรษฐกิจโตยั่งยืน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 16, 2017 11:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักวิเคราะห์มองว่า การที่ธนาคารจีนมียอดปล่อยกู้ล็อตใหม่สกุลเงินหยวนประจำเดือนม.ค.ให้กับภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเกิดภาวะฟองสบู่ ในสัดส่วนที่น้อยกว่ายอดปล่อยสินเชื่อให้กับภาคอุตสาหกรรมการผลิตนั้น เป็นหลักฐานที่บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจที่แท้จริงของจีนอยู่ในทิศทางที่แข็งแกร่งขึ้น

ธนาคารกลางจีน (PBOC) เปิดเผยว่า ธนาคารพาณิชย์ในจีนได้ปล่อยสินเชื่อใหม่สกุลเงินหยวนในเดือนม.ค. รวมมูลค่า 2 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 2.95 แสนล้านดอลลาร์) ซึ่งมากกว่าเดือนธ.ค.เป็นจำนวนเท่าตัว โดยยอดการปล่อยสินเชื่อจำนองเพื่อการซื้อบ้าน อยู่ที่ระดับ 6.29 แสนล้านหยวน ซึ่งมีสัดส่วนต่ำกว่า 1 ใน 3 ของยอดปล่อยกู้ทั้งหมด และต่ำกว่าเดือนธ.ค.เกือบ 10%

ด้านนายต่งซีเมี่ยว ศาสตราจารย์ภาควิชาการเงินแห่งมหาวิทยาลัยเหรินหมินของจีน มองว่า ข้อมูลข้างต้นเป็นตัวบ่งชี้ว่า มาตรการของรัฐบาลในการควบคุมภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์นั้น เริ่มที่จะสัมฤทธิ์ผล

นายต่งกล่าวเสริมว่า ผู้กำกับดูแลภาคการเงินพยายามที่จะควบคุมภาวะฟองสบู่ในสินทรัพย์ และอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่แท้จริงแทน

ด้านนายหลี่ฉีหลิน นักวิเคราะห์แห่งบริษัทหลักทรัพย์หมินเซิง แสดงความเห็นว่า การที่เศรษฐกิจมหภาคของจีนอยู่ในภาวะที่แข็งแกร่ง ทำให้ภาคเอกชนมีความต้องการที่จะนำเงินไปลงทุนมากขึ้น

นายหลี่วิเคราะห์ว่า การที่ธนาคารจีนมียอดปล่อยกู้ใหม่ในเดือนม.ค.สูงขึ้นจากเดือนธ.ค.มาก เป็นเพราะปัจจัยด้านฤดูกาล เนื่องจากธนาคารต่างๆแข่งขันกันปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ขอกู้ที่มีคุณภาพสูงในช่วงเริ่มต้นปีใหม่ ประกอบกับความต้องการสินเชื่อมีการขยายตัวสูง สืบเนื่องจากโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆที่รัฐบาลอนุมัติให้ก่อสร้างในช่วงปลายปีที่แล้ว

ธนาคารกลางจีนเปิดเผยด้วยว่า ปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบ M2 ซึ่งครอบคลุมเงินสดหมุนเวียนและเงินฝากทุกประเภท ปรับตัวขึ้น 11.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี สู่ระดับ 157.6 ล้านล้านหยวน ณ สิ้นเดือนม.ค.

ขณะที่ปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบ M1 ซึ่งครอบคลุมกระแสเงินสดหมุนเวียนและเงินฝากเผื่อเรียก (demand deposits) ปรับตัวขึ้น 14.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี สู่ระดับ 47.25 ล้านล้านหยวน

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของจีน (GDP) ขยายตัว 6.7% ในปี 2559 ซึ่งแม้จะเป็นการเติบโตในอัตราช้าที่สุดในรอบเกือบ 3 ทศวรรษ แต่ก็ยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของรัฐบาล

ที่ผ่านมานั้น ธนาคารกลางจีนได้กำหนดนโยบายการเงินอย่างเข้มงวด เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดภาวะฟองสบู่ในสินทรัพย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ