World Today: สรุปประเด็นน่าติดตามประจำวันที่ 11 มิถุนายน 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 11, 2018 08:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การประชุมผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม 7 ประเทศ หรือ G7 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศแคนาดา ได้เสร็จสิ้นลงแล้วเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ท่ามกลางความขัดแย้งเกี่ยวกับนโยบายปกป้องการค้าของสหรัฐ ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐได้สั่งการไม่ให้คณะผู้แทนสหรัฐให้การรับรองแถลงการณ์ร่วมของการประชุม G7 ในครั้งนี้ พร้อมกับทวีตข้อความโจมตีนายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา เพื่อตอบโต้การที่นายทรูโดได้วิจารณ์การเก็บภาษีนำเข้าของรัฐบาลสหรัฐ

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้น หลังจากนายทรูโดกล่าวว่า ประเทศที่เข้าร่วมการประชุม G7 ทั้งหมดได้ตกลงลงนามในแถลงการณ์ ร่วมเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา แม้มีความแตกแยกกันบ้างจากการที่สหรัฐได้เรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียม โดยแถลงการณ์ร่วมดัง กล่าวมีการระบุเรื่องการค้า ขยะพลาสติกในทะเล และความเท่าเทียมทางเพศ

ส่วนในการประชุมวันแรกเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมานั้น ผู้นำกลุ่ม G7 ได้ยืนยันความร่วมมือในการปลดนิวเคลียร์ออกจากเกาหลีเหนือ ก่อนที่ผู้นำสหรัฐและเกาหลีเหนือจะจัดการประชุมสุดยอดร่วมกันวันที่ 12 มิ.ย.นี้ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังหารือในประเด็นการค้า หลังสหรัฐประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมต่อชาติพันธมิตรอย่างแคนาดา เม็กซิโก และสหภาพยุโรป (EU) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

-- จับตาการประชุมสุดยอดครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างประธานาธิบดีโดนัดล์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ และนายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ โดยการประชุมจะจัดขึ้นที่โรงแรมคาเปลลา บนเกาะเซนโตซาของสิงคโปร์ ในเวลา 09.00 น.ตามเวลาสิงคโปร์ในวันพรุ่งนี้ ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ การประชุมครั้งนี้จะเป็นตัวกำหนดอนาคตแห่งสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

ทั้งนี้ ทั่วโลกต่างก็จับตาดูว่า ผู้นำสหรัฐและเกาหลีเหนือจะตกลงกันได้หรือไม่ในเรื่องการปลดอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี และทั้งสองฝ่ายจะยอมลงนามในข้อตกลงยุติสงครามเกาหลีหรือไม่ โดยในทางเทคนิคนั้น สงครามเกาหลียังไม่ยุติ เนื่องจากข้อตกลงที่ได้มีการลงนามร่วมกันเมื่อปี 1953 นั้น เป็นเพียงข้อตกลงสงบศึกชั่วคราว ยังไม่ใช่การยุติสงครามอย่างเป็นทางการ

ขณะที่สำนักข่าว KCNA ของทางการเกาหลีเหนือรายงานว่า นายคิมจะหารือกับปธน.ทรัมป์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ครั้งใหม่ระหว่างเกาหลีเหนือและสหรัฐ ในการประชุมสุดยอดครั้งประวัติศาสตร์นี้

-- สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สำคัญ ปรับตัวขึ้น 1.8% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเท่ากับที่เพิ่มขึ้นในเดือนเม.ย. และสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักเศรษศาสตร์

หากเทียบเป็นรายเดือน ดัชนี CPI เดือนพ.ค. ปรับตัวลง 0.2% ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนเม.ย.เช่นกัน

ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนสินค้าที่หน้าประตูโรงงาน ปรับตัวขึ้น 4.1% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี สูงกว่าที่เพิ่มขึ้น 3.4% ในเดือนเม.ย. และมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 3.9%

หากเทียบรายเดือน ดัชนี PPI เดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 0.4% ซึ่งเป็นการพลิกกลับมาดีดตัวขึ้นจากที่ลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนก.พ.

-- นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อวานนี้ว่า ประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) มีจุดยืนคัดค้านมาตรการคุ้มครองการค้าทุกรูปแบบ โดยจะขอสนับสนุนอำนาจและประสิทธิภาพของระเบียบองค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อให้การค้าเป็นไปอย่างเปิดกว้าง ครอบคลุม โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ และสอดคล้องกับระเบียบกฎเกณฑ์

ปธน.จีนได้มีถ้อยแถลงดังกล่าว ระหว่างการแถลงข่าวหลังการประชุมสุดยอด SCO ครั้งที่ 18 ที่เมืองชิงเต่า ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของมณฑลซานตง นอกจากนี้ ผู้นำจีนยังประกาศว่า จีนจะไม่ยอมรับนโยบายการค้าที่เห็นแก่ได้ ไม่รอบคอบ และมีวิสัยทัศน์คับแคบ พร้อมเรียกร้องให้สร้างเศรษฐกิจโลกที่เปิดกว้าง อย่างไรก็ดี ผู้นำจีนไม่ได้มีการระบุชื่อประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ

ทั้งนี้ SCO มีประเทศสมาชิก 8 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย คาซัคสถาน คาร์กิสถาน ปากีสถาน รัสเซีย ทาจิกิสถาน และอุซเบกิสถาน โดยมีประเทศผู้สังเกตการณ์อีก 4 ประเทศ และประเทศคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ

-- สำนักงานคณะรัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ว่า ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมต่อเรือและสาธารณูปโภค พุ่งขึ้น 10.1% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สู่ระดับ 9.431 แสนล้านเยน หรือประมาณ 8.6 พันล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานถือเป็นดัชนีวัดการใช้จ่ายด้านทุนของบริษัทเอกชนญี่ปุ่น โดยที่ผ่านมานั้น บริษัทเอกชนญี่ปุ่นได้เพิ่มการใช้จ่ายเพื่อขยายศักยภาพด้านการผลิตในเพียงพอรองรับอุปสงค์ที่แข็งแกร่งในต่างประเทศ และได้นำเครื่องจักรมาใช้แทนคนในการทำงาน เพื่อรองรับภาวะขาดแคลนแรงงานภายในประเทศ

-- นักลงทุนต่างก็จับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 12-13 มิ.ย., การประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันที่ 14 มิ.ย. และการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันที่ 14-15 มิ.ย.

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมครั้งนี้ หลังจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานและค่าจ้างแรงงานที่พุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่ง

ส่วนการประชุม ECB นั้น ตลาดการเงินคาดว่า ECB จะส่งสัญญาณปรับลดวงเงินซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) จากระดับ 3 หมื่นล้านยูโร/เดือน ซึ่งมีกำหนดสิ้นสุดในเดือนก.ย.

-- สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจของประเทศต่างๆที่ตลาดการเงินจับตาในวันนี้ได้แก่ ยอดปล่อยกู้สกุลเงินหยวนเดือนพ.ค.ของจีน ขณะที่อังกฤษจะเปิดเผยดุลการค้าเดือนเม.ย. และการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย.

ส่วนในวันพรุ่งนี้ ญี่ปุ่นจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนพ.ค., จีนจะเปิดเผยการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เดือนพ.ค.และยอดขายรถยนต์เดือนพ.ค. ขณะที่อังกฤษจะเปิดเผยอัตราว่างงานเดือนเม.ย. และสถาบัน ZEW จะเปิดเผยความเชื่อมั่นทางเศณษฐกิจเดือนมิ.ย.ของยูโรโซน ทางด้านสหรัฐจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนพ.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ