Economic Watch: ผู้แทนจีน-ไทยร่วมวงเสวนาถกผลกระทบสงครามการค้าจีน-สหรัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 16, 2018 18:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จัดงานเสวนาโต๊ะกลมขึ้นในหัวข้อ "สงครามการค้าจีน-อเมริกา: โลกระส่ำ..ไทยสะเทือน" ในวันนี้ โดยมีวิทยากรซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและการเงินภาครัฐและเอกชนของไทยและจีนมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง และแบ่งปันความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่งผลกระทบต่อนานาประเทศอยู่ในปัจจุบัน และส่อเค้ารุนแรงขึ้นในอนาคตอันใกล้

คุณฮวง ไค เลขานุการเอกฝ่ายเศรษฐกิจและการพาณิชย์ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า เหตุผลเบื้องลึกของสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐนั้นมีอยู่หลายมิติทั้งในด้านเศรษฐกิจ, การเมือง และการทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะนี้ที่สหรัฐกำลังจะจัดการเลือกตั้งกลางเทอม ทำให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ต้องพยายามแสดงให้ประชาชนเห็นว่าเขาสามารถทำตามคำมั่นที่เคยให้ไว้เมื่อคราวหาเสียงช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เพื่อรักษาฐานเสียงของตนเอาไว้

คุณฮวงเสริมว่า การที่สหรัฐดำเนินนโยบายโดดเดี่ยวเช่นนี้ ไม่ส่งผลดีทั้งกับสหรัฐและทั่วโลก ดังจะเห็นได้จากการที่องค์กรระหว่างประเทศและหน่วยงานสากลหลายแห่งออกมาปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกลง

เช่นเดียวกับคุณขวัญใจ เตชเสนสกุล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) แสดงความคิดเห็นถึงประเด็นดังกล่าวว่า เรื่องสงครามการค้านี้เกิดขึ้นจากความกลัวของสหรัฐ ที่ต้องการรักษาความเป็นผู้นำเอาไว้ ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ที่ว่าจีนจะก้าวขึ้นแซงหน้าสหรัฐในอีกไม่กี่ปีจากนี้

คุณขวัญใจระบุว่า สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐจะส่งผลให้การค้าทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไปจากที่ก่อนหน้านี้เคลื่อนไหวได้อย่างเสรีมาเป็นการกีดกันการค้ามากขึ้น ในขณะที่ความร่วมมือระหว่างประเทศก็จะเปลี่ยนจากความร่วมมือระดับพหุภาคีมาเป็นความร่วมมือแค่ในระดับทวิภาคี อีกทั้งยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในห่วงโซ่อุปทานอีกด้วย

ทางด้านคุณพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สงครามการค้าจีน-สหรัฐจะส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงและขาดเสถียรภาพทางการค้า อีกทั้งยังส่งผลต่อราคาน้ำมันและราคาสินค้าให้ปรับตัวสูงขึ้น หลังจากนี้ จีนน่าจะมองหาแหล่งทุนการผลิตสินค้าในต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศในแถบภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทยที่เป็นหนึ่งในตลาดเป้าหมายของกลุ่มนักลงทุนจากจีน โดยคุณพิมพ์ชนกได้เน้นย้ำต่อเรื่องนี้ว่า "ไทยมีความพร้อมสำหรับตลาดนักลงทุนจากจีน"

ทั้งนี้ คุณพิมพ์ชนกมองว่า ผลกระทบจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐต่อไทยนั้น ยังคงมีไม่มาก โดยสินค้าของไทยที่ส่งออกไปจีน-สหรัฐ ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากปีที่แล้ว ส่วนแนวโน้มการส่งออกปีหน้านั้นยังไม่มีความชัดเจน

ด้านดร.จื้อกัง หลี่ ประธานกรรมการบริหารธนาคารไอซีบีซี (ไทย) กล่าวถึงผลกระทบจากนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐว่า ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนอยู่บ้างแต่ไม่มากนัก เพราะจีนกำลังหันมาเน้นที่การอุปโภคบริโภคภายในประเทศมากขึ้น

ผู้บริหารธนาคารไอซีบีซีกล่าวว่า เศรษฐกิจของสหรัฐเพิ่งมาเติบโตจากการค้าอาวุธในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ก่อนที่สหรัฐจะนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างที่เราได้เห็นกันในปัจจุบัน และยังต้องอาศัยการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากต่างประเทศอยู่

นอกจากนี้ ดร.จื้อกัง ยังได้ตอบคำถามที่ว่า สงครามการค้าครั้งนี้จะยืดเยื้ออีกนานแค่ไหนด้วยว่า โดยส่วนตัวแล้ว เขาไม่คิดว่าสงครามการค้าครั้งนี้จะต้องยืดเยื้อออกไป เพราะยิ่งยืดเยื้อมากเท่าไหร่จะยิ่งทำให้ชาวอเมริกันต้องเสียผลประโยชน์มากขึ้นเท่านั้น

ประธานกรรมการบริหารธนาคารไอซีบีซี อธิบายต่อไปว่า นโยบายกีดกันการค้าของรัฐบาลสหรัฐขัดแย้งกับระบอบการค้าเสรี ที่จำเป็นต้องพึ่งพาฐานการผลิตที่มีต้นทุนต่ำที่สุด ยกตัวอย่างเช่น ถ้าบริษัทแอปเปิล ต้องย้ายฐานการผลิตกลับไปที่สหรัฐ แน่นอนว่าบริษัทต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้น และผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อมาก็คือผู้บริโภคชาวอเมริกันที่อาจต้องซื้อสินค้าในราคาที่สูงขึ้น แน่นอนว่าหากชาวอเมริกันตระหนักได้ถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้น พวกเขาจะเป็นผู้กดดันให้รัฐบาลต้องเปลี่ยนนโยบายด้วยตนเอง

ขณะที่ ดร.หลี่ เหรินเหลียง นักวิจัยสถาบันวิจัยชาวจีนโพ้นทะเล คณะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหัวเฉียว กล่าวว่า การตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐเป็นนโยบายตามแนวคิดของลัทธิโดดเดี่ยว ซึ่งเป็นความต้องการของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และชาวอเมริกันบางส่วน และเรื่องเหล่านี้ก็คงจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ ดร.หลี่ ยังมองว่า มาตรการการตั้งกำแพงภาษีคงจะไม่ยืดเยื้อ เพราะจีนและสหรัฐต่างก็พยายามหาโอกาสที่จะเจรจาทางการค้าระหว่างกันมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ