Spotlight: รายงานเผยผลกระทบจาก "ชัตดาวน์" เริ่มกระจายวงกว้างทั่วสหรัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 15, 2019 11:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สถานการณ์ที่หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐต้องปิดการดำเนินงานเนื่องจากขาดงบประมาณ หรือชัตดาวน์ ได้ล่วงเข้าสู่วันที่ 24 แล้วในขณะนี้ ทำสถิติยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของสหรัฐ เนื่องจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และสภาคองเกรส ยังไม่สามารถตกลงกันได้ในประเด็นการจัดสรรงบประมาณสร้างกำแพงกั้นชายแดนสหรัฐ-เม็กซิโกวงเงินกว่า 5 พันล้านดอลลาร์ตามความประสงค์ของปธน.ทรัมป์

เจ้าหน้าที่รัฐหลายแสนคนทำงานโดยไม่ได้รับเงินเดือน

ผลกระทบจากภาวะชัตดาวน์เริ่มปรากฎชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เมื่อพนักงานของหน่วยงานรัฐราว 800,000 คน ไม่ได้รับเช็คจ้างการทำงานของพวกเขา

เจ้าหน้าที่รายหนึ่งจากกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐ ซึ่งออกมาร่วมเดินขบวนประท้วงไปยังทำเนียบขาวเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยุติภาวะชัตดาวน์ ร่วมกับพนักงานรัฐรายอื่นๆอีกหลายร้อยคน เปิดเผยกับสำนักข่าวซินหัวว่า "สถานการณ์ตอนนี้ได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง มีคนจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับเงินค่าจ้าง และหลายครอบครัวก็กำลังเผชิญความยากลำบาก ผมอยากจะบอกว่าเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานรัฐทุกคนพร้อมที่จะทำงาน และพวกเขาก็ไม่ควรต้องถูกดึงเข้ามาอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งเช่นนี้"

นอกจากการประท้วงดังกล่าวแล้ว ยังมีสถานการณ์วุ่นวายในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นทั่วสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการประท้วงของเจ้าหน้าที่หน่วยงานรักษาความปลอดภัยด้านการขนส่งที่เมืองแอตแลนตา ของรัฐจอร์เจีย เนื่องจากยังไม่ได้รับค่าตอบแทนจากการทำงาน หรือแม้แต่ท่าอากาศยานนานาชาติไมอามี ในรัฐฟลอริดา ที่ต้องปิดการให้บริการไปหนึ่งเทอร์มินอล เนื่องจากมีพนักงานตรวจตราความปลอดภัยลาป่วยมากเป็นสองเท่าของอัตราปกติ

ขณะเดียวกัน เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สหภาพแรงงานของสำนักงานควบคุมการจราจรทางอากาศ ซึ่งอยู่ภายใต้สังกัดกรมการบินของรัฐบาลกลางสหรัฐ ก็ได้ทำการยื่นฟ้องต่อศาล ในกรณีที่รัฐบาลของปธน.ทรัมป์ไม่ได้จ่ายเงินเดือนแก่พนักงานของสหภาพ เนื่องจากรัฐบาลขาดแคลนงบประมาณอันเป็นผลจากการชัตดาวน์ พร้อมระบุว่าการกระทำของรัฐบาลเป็นการริดรอนสิทธิ์ของสมาชิกสหภาพที่มีอยู่หลายพันคนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หลังจากที่พนักงานควบคุมการจราจรทางอากาศต่างก็ต้องตกใจไปกับข้อมูลรายละเอียดค่าตอบแทนที่ปรากฎออกมาเป็น 0.00 ดอลลาร์ในช่วงต้นสัปดาห์

นายคริสโตเฟอร์ กาลด์เยรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากวิทยาลัยเซนต์แอนเซลม์เปิดเผยว่า "มีการบริการของรัฐหลายส่วนที่ได้รับผลกระทบ และหากสถานการณ์ชัตดาวน์ต้องยืดเยื้อยาวนานออกไปเรื่อยๆ เราก็จะได้เห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็นกันมากขึ้น"

งบสร้างกำแพงกั้นชายแดนที่ยังหาข้อยุติไม่ได้

ภาวะชัตดาวน์ครั้งล่าสุดในสหรัฐได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงพ้นเที่ยงคืนวันศุกร์ที่ 21 ธ.ค.2561 ตามเวลาสหรัฐ หรือตรงกับช่วงเที่ยงวันเสาร์ที่ 22 ธ.ค. 2561 ตามเวลาไทย และยืดเยื้อมาจนถึงขณะนี้ เนื่องจากคณะทำงานของปธน.ทรัมป์และแกนนำพรรคเดโมแครตในสภาคองเกรสยังไม่สามารถตกลงกันในประเด็นเรื่องการจัดสรรงบประมาณสร้างกำแพงกั้นชายแดนเม็กซิโกได้ แม้จะมีการเจรจาร่วมกันมาแล้วหลายครั้ง

ปธน.ทรัมป์ออกมาประกาศผ่านทางทวิตเตอร์อีกครั้งเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า "มีวิกฤติการณ์ด้านมนุษยธรรมที่ใหญ่หลวงเกิดขึ้นบริเวณชายแดนสหรัฐ-เม็กซิโก" พร้อมย้ำว่า "กำแพงหรือแผงแหล็กกั้นชายแดนระหว่างทั้งสองประเทศนั้นจำเป็นต่อการรักษาความปลอดภัยตามแนวชายแดน และจะช่วยป้องกันอาชญากรรม, มิจฉาชีพ, การค้ามนุษย์ รวมทั้งยาเสพติด ซึ่งหากไม่มีกำแพงเหล่านั้น ประเทศของเราก็จะไม่มีความปลอดภัย"

ด้านนางแนนซี เพโลซี แกนนำพรรคเดโมแครตในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ และนายชัค ชูเมอร์ ผู้นำเสียงข้างน้อยในวุฒิสภาสหรัฐ ได้ออกมาแสดงมุมมองต่อกำแพงที่ปธน.ทรัมป์เรียกร้องมานั้นว่า มีค่าใช้จ่ายมากเกินไป, ไม่สามารถแก้ปัญหาดังที่ปธน.ทรัมป์กล่าวอ้างมาได้จริง และขัดต่อหลักศีลธรรม อีกทั้งยังระบุว่าข้อเสนอดังกล่าวของปธน.ทรัมป์นั้นเป็นภัยคุกคามทางการเมือง พร้อมเรียกร้องให้เปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีอย่างโดรนและเซ็นเซอร์ ในการเสริมสร้างความปลอดภัยตามแนวชายแดนแทนการสร้างกำแพงตามที่ปธน.ทรัมป์ต้องการ

ในขณะที่ฝ่ายเดโมแครตไม่มีสัญญาณว่าจะยอมอ่อนข้อต่อข้อเรียกร้องดังกล่าวนั้น ปธน.ทรัมป์ก็ได้ออกมาย้ำหลายครั้งว่าเขาพร้อมที่จะประกาศภาวะฉุกเฉิน หากการเจรจากับสภาคองเกรสไม่ประสบความคืบหน้าในการอนุมัติงบประมาณสำหรับการสร้างกำแพงกั้นชายแดนสหรัฐ-เม็กซิโก ซึ่งการประกาศภาวะฉุกเฉินดังกล่าว จะทำให้ปธน.ทรัมป์มีอำนาจออกกฎหมายพิเศษโดยไม่ต้องขอการอนุมัติจากสภาคองเกรสสำหรับการสร้างกำแพงโดยใช้งบประมาณที่มีการจัดสรรไว้แล้วสำหรับกองทัพ

นายกาลด์เยรี กล่าวว่า การประกาศภาวะฉุกเฉินของทรัมป์ดูจะเป็นแนวทางที่พิลึกพิลั่นสำหรับสถานการณ์นี้ และอาจนำไปสู่การต่อสู้กันทางกระบวนการยุติธรรมที่ไม่มีใครกล้ารับประกันว่าเขาจะได้รับชัยชนะ ขณะที่นางเพโลซีระบุว่า "ฉันไม่รู้ด้วยซ้ำว่าประธานาธิบดีต้องการกำแพงนี้หรือเปล่า ฉันแค่คิดว่าเขาต้องการที่จะเอาชนะในเรื่องกำแพง และเขาก็กำลังมีปัญหากับมัน"

ทั้งนี้ การแสดงกำแพงกั้นชายแดนสหรัฐ-เม็กซิโกเป็นนโยบายหลักที่ทรัมป์ใช้ในการหาเสียงเมื่อครั้งลงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2559 อีกทั้งยังเป็นหัวใจสำคัญของนโยบายตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายรายมองว่าไม่เพียงแต่ช่วยเรียกฐานเสียงสนับสนุนให้กับเขาในการเลือกตั้งครั้งดังกล่าวเพียงเท่านั้น แต่ยังจะมีความสำคัญต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไปในปี 2563 นี้ด้วย ดังที่นายฟารีด ซาคาเรีย นักวิเคราะห์การเมืองได้เปิดเผยกับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า "มันเป็นหัวใจสำคัญในการหาเสียงของเขา และเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้คนหลงรักเขา"

อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจล่าสุดที่ CBS News ทำขึ้นบนแอปพลิเคชั่น YouGov ปรากฎออกมาว่า ผู้ตอบแบบสำรวจเพียง 35% ที่เห็นด้วยกับการที่ทรัมป์ปล่อยให้ภาวะชัตดาวน์ยืดเยื้อต่อไป และมีเพียง 33% ที่เห็นด้วยกับการคัดค้านของพรรคเดโมแครต ขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจอีกเป็นจำนวนมากยังไม่แน่ใจว่าควรสนับสนุนฝ่ายใด

เสียงสะท้อนในแง่ลบเริ่มกระจายวงกว้าง

ภาวะชัตดาวน์กำลังแปรเปลี่ยนจากประเด็นทางการเมือง กลายเป็นผลกระทบที่มีต่อหลายภาคส่วนเพิ่มมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เริ่มปรากฎให้เห็นชัดเจนออกมาเรื่อยๆ โดยทำเนียบขาวได้ประมาณการไว้ว่า ภาวะชัตดาวน์จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของสหรัฐลดลงราว 0.1% ในทุกๆ 2 สัปดาห์ หากสถานการณ์ยังคงดำเนินอยู่

ขณะที่ศูนย์เพื่อความก้าวหน้าของอเมริกันซึ่งตั้งอยู่ในวอชิงตันคาดว่า สหรัฐจะเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจราว 5 พันล้านดอลลาร์ในทุกๆ 2 สัปดาห์ที่ภาวะชัตดาวน์ดำเนินต่อไป หรือคิดเป็น 15 ล้านดอลลาร์ต่อชั่วโมง ขณะที่หอการค้าสหรัฐที่ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกลงบนเว็บไซต์ของสมาคมโดยระบุว่า "ผลกระทบแง่ลบจากการชัตดาวน์กำลังแผ่กระจายและขยายตัวออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ"

หอการค้าระบุว่า บรรดาธุรกิจขนาดเล็ก, บริษัทต่างๆที่ยื่นคำร้องขอเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะเป็นครั้งแรก (IPO) รวมถึงผู้ผลิตและโรงกลั่นสุราที่กำลังรอใบอนุญาต, การดำเนินการด้านการนำเข้าสินค้า, การยื่นคำร้องขอยกเว้นภาษี, ยื่นจดจำนอง, ผู้ที่รอรับเงินอุดหนุนต่างๆ, การทำสัญญา และการชำระเงินค่าสินค้าและบริการ ซึ่งถูกเตรียมการไว้หมดแล้วนั้น ต่างก็ต้องล่าช้าออกไป พร้อมระบุว่า "วันแต่ละวันที่ผ่านไปนั้น ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปทุกที"

นอกจากนี้ จากข้อมูลบนเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq ยังพบอีกว่า เมื่อวันศุกร์ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่มีการเสนอขายหุ้น IPO บนกระดาน Nasdaq ขณะที่มีคาดการณ์ออกมาว่าในสัปดาห์นี้ก็จะไม่มีการเสนอขายหุ้นเช่นเดียวกัน เนื่องจากภาวะชัตดาวน์ของรัฐบาล

นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวในการประชุมสมาคมเศรษฐกิจแห่งกรุงวอชิงตันว่า ภาวะชัตดาวน์ที่ยืดเยื้อออกไปยาวนานจะเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจของสหรัฐ และทำให้เฟดประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศยากขึ้น "ถ้าชัตดาวน์ยังยืดเยื้อต่อไป ผมมั่นใจว่าผลกระทบจะปรากฎชัดเจนออกมาให้เห็นในข้อมูลเศรษฐกิจ"

ทั้งนี้ หากสหรัฐต้องเผชิญภาวะชัตดาวน์ต่อไปจนถึงสิ้นเดือนม.ค. จะทำให้กระทรวงพาณิชย์ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญอย่าง การใช้จ่ายผู้บริโภค และรายได้ส่วนบุคคลประจำเดือน

นายพาวเวลกล่าวว่า "ยิ่งชัตดาวน์ยืดเยื้อออกไปนานแค่ไหน เราอาจต้องเห็นภาพทางเศรษฐกิจที่เลือนลางลงเท่านั้น"

ด้านฟิทช์เรตติ้ง เรทติ้งส์ ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ ก็ได้ออกมาเตือนว่าสหรัฐอาจถูกปรับลดความเชื่อถือลงจากระดับ AAA โดยนายเจมส์ แมคคอร์แมค หัวหน้าฝ่ายจัดอันดับความน่าเชื่อถือของฟิทช์ กล่าวว่า "หากภาวะชัตดาวน์ยังคงดำเนินไปจนถึงวันที่ 1 มี.ค. และส่งผลให้เพดานหนี้กลายเป็นปัญหาในช่วงหลายเดือนต่อมา เราอาจจำเป็นต้องเริ่มพิจารณาถึงกรอบนโยบายและการที่รัฐบาลอาจไม่สามารถผลักดันงบประมาณผ่านรัฐสภา เพื่อดูว่าปัจจัยเหล่านี้จะสอดคล้องกับอันดับเครดิตที่ AAA ของสหรัฐหรือไม่"

บทความโดย เติ้ง เซียนไหล, ซาน ติง, เกา พาน จากสำนักข่าวซินหัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ