World Today: สรุปประเด็นน่าติดตามประจำวันที่ 5 มิถุนายน 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 5, 2020 08:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) เปิดเผยว่า ตนมีความรู้สึกที่ดีมากๆ ต่อความคืบหน้าของข้อตกลงการค้าเฟสแรกที่ทำไว้กับจีน โดยเขาระบุว่า จีนได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและมีการซื้อสินค้าจากสหรัฐมากขึ้นในช่วงหลายสัปดาห์มานี้

ผู้แทนการค้าสหรัฐ ระบุว่า จีนได้ซื้อถั่วเหลืองสหรัฐไป 185 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการหักล้างรายงานข่าวก่อนหน้านี้ที่ว่าจีนไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว

-- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ เนื่องจากนักลงทุนยังคงมีมุมมองเป็นบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ หลังจากตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานในสหรัฐลดลงสู่ระดับต่ำกว่า 2 ล้านรายเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่กลางเดือนมี.ค. นอกจากนี้ ตลาดยังขานรับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางยุโรป (ECB) อย่างไรก็ดี ดัชนีดาวโจนส์ปิดบวกเพียงเล็กน้อย ขณะที่ดัชนี S&P500 และ Nasdaq ปิดในแดนลบเป็นวันแรกในรอบ 4 วันทำการ เนื่องจากนักลงทุนเทขายทำกำไรก่อนที่กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพ.ค.ในวันนี้

-- จับตาตลาดหุ้นเอเชียวันนี้ คาดการซื้อขายเป็นไปอย่างซบเซาหลังดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเพียงเล็กน้อยเมื่อคืนนี้ เนื่องจากนักลงทุนมองว่าตลาดปรับตัวดีขึ้นมากกว่าที่ควรจะเป็น

-- นักลงทุนรอดูความชัดเจนเกี่ยวกับการจัดประชุมของกลุ่มโอเปกพลัส หลังจากไม่มีการจัดประชุมเมื่อวานนี้ ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การประชุมของกลุ่มโอเปกพลัสในสัปดาห์นี้ยังคงมีความเป็นไปได้ หากอิรักและสมาชิกอื่นของโอเปกพลัสยืนยันที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงในการปรับลดกำลังการผลิตมากขึ้น

ก่อนหน้านี้ นายโมฮัมเหม็ด อาร์คับ รัฐมนตรีพลังงานแอลจีเรีย ในฐานะประธานหมุนเวียนของโอเปก ได้เสนอให้มีการจัดประชุมโอเปกพลัสในวันที่ 4 มิ.ย. ซึ่งเลื่อนขึ้นมาจากกำหนดการเดิมในวันที่ 9-10 มิ.ย. อย่างไรก็ดี โอเปกพลัสไม่ได้จัดการประชุมในวันที่ 4 แต่อย่างใด

ทางด้าน Kpler ซึ่งเป็นผู้ให้บริการข้อมูลด้านสินค้าโภคภัณฑ์เปิดเผยผ่านทางทวิตเตอร์เมื่อวานนี้ว่า กลุ่มโอเปกพลัสได้ปรับลดการผลิตน้ำมันราว 8.6 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนพ.ค. ซึ่งบ่งชี้ว่า โอเปกพลัสได้ดำเนินการตามข้อตกลงปรับลดการผลิตที่ลงนามร่วมกันในเดือนเม.ย.ไปแล้วประมาณ 89%

-- ตำรวจฮ่องกงฉีดสเปรย์พริกไทยเข้าสู่กลุ่มผู้ประท้วงรัฐบาล ซึ่งได้ฝ่าฝืนคำสั่งห้ามชุมนุม โดยมีการจุดเทียนเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ปราบปรามผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในบริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมินของจีนเมื่อปี 2532

ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่เกิดความวุ่นวายในการรำลึกเหตุการณ์เทียนอันเหมินในฮ่องกง เนื่องจากตำรวจสั่งห้ามการชุมนุมในปีนี้ โดยอ้างว่าเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

เจ้าหน้าที่ยืนยันว่าคำสั่งห้ามชุมนุมเกิน 8 คนดังกล่าวเป็นไปเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน โดยไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยการเมืองแต่อย่างใด

-- ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเมื่อวานนี้ แต่ได้เพิ่มวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามโครงการฉุกเฉินอีก 6 แสนล้านยูโร เพื่อเยียวยาเศรษฐกิจในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้ ECB มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ที่ระดับ 0% โดยเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB ที่ระดับ -0.50% ขณะที่คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับ 0.25%

อย่างไรก็ดี ECB มีมติเพิ่มวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามโครงการ Pandemic Emergency Purchase Programme (PEPP) อีก 6 แสนล้านยูโร สู่ระดับ 1.35 ล้านล้านยูโร

นอกจากนี้ ECB ยังได้ขยายเวลาในการซื้อพันธบัตรตามโครงการ PEPP จากสิ้นปีนี้ออกไปจนถึงเดือนมิ.ย.2564

-- นางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวว่า เศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มหดตัวลง 8.7% ในปีนี้ โดยได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ของประเทศต่างๆในยุโรปเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

อย่างไรก็ดี นางลาการ์ดคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจยูโรโซนจะขยายตัว 5.2% ในปี 2564 และ 3.3% ในปี 2565 แม้ว่ายังคงมีความเสี่ยงในช่วงขาลง

-- นายแกรนท์ แชปส์ รมว.ขนส่งของอังกฤษ กล่าวว่า ผู้โดยสารที่ใช้ระบบขนส่งสาธารณะจะต้องสวมหน้ากากอนามัย โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย.

คำสั่งดังกล่าวมีผลสำหรับผู้โดยสารรถบัส รถราง รถไฟ และรถไฟใต้ดิน ผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าวจะถูกสั่งปรับ และถูกสั่งห้ามเข้าใช้บริการขนส่งสาธารณะ

-- Worldometer ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานข้อมูลล่าสุดที่มีการรวบรวมจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลก ระบุว่า ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกขณะนี้อยู่ที่ 6,596,048 ราย และยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 388,419 ราย

สหรัฐมียอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สูงสุดในโลก (1,902,101) รองลงมาคือบราซิล (584,562), รัสเซีย (441,108), สเปน (287,406), สหราชอาณาจักร (279,856) และอิตาลี (233,836)

นอกจากนี้ สหรัฐยังเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงสุดในโลก (109,146) ตามมาด้วยสหราชอาณาจักร (39,728), อิตาลี (33,601), บราซิล (32,568) และฝรั่งเศส (29,021)

-- สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกจำนวน 1.877 ล้านรายในสัปดาห์ที่แล้ว โดยลดลงต่ำกว่าระดับ 2 ล้านรายเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่กลางเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานสหรัฐได้ผ่านพ้นภาวะเลวร้ายที่สุดที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แม้ตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.8 ล้านราย

สำหรับจำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 23 พ.ค. เพิ่มขึ้น 649,000 ราย สู่ระดับ 21.5 ล้านราย

ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกที่มีการรายงานล่าสุดนี้ถือว่าต่ำที่สุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และมีการลดลงอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์แตะระดับ 6.9 ล้านรายในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 28 มี.ค.

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐพุ่งขึ้นในเดือนเม.ย. โดยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้สกัดการไหลเวียนของสินค้าและบริการในตลาดโลก ส่งผลให้การส่งออกของสหรัฐดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี

ทั้งนี้ ตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐพุ่งขึ้น 16.7% สู่ระดับ 4.94 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนเม.ย. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.90 หมื่นล้านดอลลาร์

กระทรวงพาณิชย์ยังเปิดเผยว่า การนำเข้าสินค้าลดลง 13.7% สู่ระดับ 2.007 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.2553 ขณะที่การส่งออกทรุดตัวลง 20.5% สู่ระดับ 1.513 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2553

-- สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญวันนี้ สหรัฐมีกำหนดรายงานตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพ.ค. เวลา 19.30 น. ตามเวลาไทย โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า กระทรวงแรงงานสหรัฐจะรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรลดลง 8.33 ล้านตำแหน่งในเดือนพ.ค. ขณะที่อัตราการว่างงานจะพุ่งขึ้นสู่ระดับ 19.5%

เมื่อเดือนที่แล้ว กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรดิ่งลง 20.5 ล้านตำแหน่งในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นตัวเลขการจ้างงานที่ย่ำแย่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ ส่วนอัตราการว่างงานพุ่งขึ้นสู่ระดับ 14.7% ในเดือนเม.ย. ซึ่งสูงกว่าระดับ 10.8% ซึ่งเป็นอัตราการว่างงานสูงสุดในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ต่ำกว่าระดับ 24.9% ซึ่งเป็นตัวเลขอัตราการว่างงานในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่

การลดลงของตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรมีสาเหตุจากการที่ภาคธุรกิจได้พากันปิดกิจการ จากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้มีการปลดพนักงานจำนวนมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ