World Today: ประเด็นข่าวต่างประเทศน่าติดตามวันนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 14, 2021 09:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นเอเชียค่อนข้างซบเซาช่วงเช้านี้ เนื่องจากตลาดหุ้นจีน ฮ่องกง และไต้หวัน ปิดทำการเนื่องในเทศกาลขนมจ้าง ส่วนตลาดหุ้นโตเกียวเปิดพุ่งขึ้นกว่า 200 จุดตามทิศทางตลาดหุ้นสหรัฐที่ปิดในแดนบวกเมื่อวันศุกร์ โดยได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนเชื่อมั่นว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังไม่ชะลอการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากการพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อเกิดจากปัจจัยชั่วคราวเท่านั้น

นักลงทุนในตลาดหุ้นเอเชียจับตาทางการญี่ปุ่นเปิดเผยผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย.ในเวลา 11.30 น.ตามเวลาไทยในวันนี้

-- ราคาบิตคอยน์ดีดตัวขึ้นเหนือระดับ 39,000 ดอลลาร์ในช่วงเช้านี้ หลังจากนายอีลอน มัสก์ ซีอีโอบริษัทเทสลาได้ทวีตข้อความล่าสุดว่า บริษัทเทสลาจะกลับมารับบิตคอยน์ในการซื้อรถยนต์เทสลาอีกครั้ง หากบรรดาเหมืองขุดบิตคอยน์สามารถยืนยันได้ว่าพวกเขาใช้พลังงานสะอาดประมาณ 50% ในการขุดเหรียญบิตคอยน์

ณ เวลา 07.31 น.ตามเวลาไทย ราคาบิตคอยน์พุ่งขึ้น 10.02% แตะที่ 39,109.47 ดอลลาร์

-- รัฐสภาอิสราเอลมีมติอนุมัติการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ โดยแต่งตั้งให้นายนัฟทาลี เบนเนตต์ หัวหน้าพรรคยามินา ซึ่งเป็นพรรคชาตินิยมฝ่ายขวา ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ แทนนายเบนจามิน เนทันยาฮูซึ่งครองเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอิสราเอลมานานถึง 12 ปี

รัฐสภาอิสราเอลมีมติด้วยคะแนน 60 ต่อ 59 เสียง เห็นชอบให้จัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติซึ่งประกอบไปด้วยพรรคร่วมรัฐบาลจำนวน 8 พรรค หลังจากอิสราเอลประสบความล้มเหลวในการจัดตั้งรัฐบาล แม้มีการเลือกตั้ง 4 ครั้งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ นายเบนเนตต์ได้เข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งในช่วงค่ำวานนี้ตามเวลาท้องถิ่น โดยตามข้อตกลงการแบ่งอำนาจร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลนั้น นายเบนเนตต์จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอิสราเอลจนถึงเดือนก.ย. 2566 ก่อนจะมอบอำนาจต่อให้นายยาอีร์ ลาพิด ผู้นำพรรคอิช อาติด ซึ่งเป็นพรรคสายกลาง ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปอีก 2 ปี

-- สายการบินออล นิปปอน แอร์เวย์ (ANA) เริ่มโครงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้พนักงานในวันนี้ ณ สนามบินฮาเนดะในกรุงโตเกียว โดยเชื่อว่าเป็นบริษัทแห่งแรกในญี่ปุ่นที่เริ่มฉีดวัคซีนให้พนักงานในสถานที่

รัฐบาลญี่ปุ่นอนุญาตให้บริษัทและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้พนักงานในสถานที่ตั้งแต่วันที่ 21 มิ.ย. แต่บริษัทแม่ของ ANA ได้ประสานงานกับรัฐบาลจนสามารถเริ่มฉีดวัคซีนได้เร็วกว่ากำหนดเดิมหนึ่งสัปดาห์

ANA ระบุว่า ในเบื้องต้นจะเน้นฉีดวัคซีนให้พนักงานราว 10,000 คน ครอบคลุมนักบินและพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินของเส้นทางบินระหว่างประเทศ โดยจะฉีดวันละประมาณ 300 คน ก่อนจะเพิ่มขึ้นตามลำดับ เพื่อให้ครอบคลุมพนักงานทั้งหมด 46,500 คน

-- นักลงทุนในตลาดการเงินทั่วโลกจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 15-16 มิ.ย.นี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า เฟดจะยังไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน แม้สหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งขึ้นเกินคาดเมื่อวันพฤหัสบดีก็ตาม

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดว่าเฟดจะตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% และจะยังคงเดินหน้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) วงเงิน 1.2 แสนล้านดอลลาร์/เดือนต่อไป

-- นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ สนับสนุนให้ญี่ปุ่นจัดการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิกอย่างปลอดภัยในเดือนหน้าท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยนายไบเดนได้พูดคุยกับนายโยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ราว 10 นาทีนอกรอบการประชุม G7 ที่ประเทศอังกฤษ

ขณะที่นายซูงะกล่าวกับนายไบเดนว่า ญี่ปุ่นจะใช้มาตรการควบคุมโรคอย่างเต็มที่เพื่อจัดการแข่งขันอย่างปลอดภัย

-- กระทรวงสาธารณสุขของแคนาดาเปิดเผยว่า แคนาดาจะไม่แจกจ่ายวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (J&J) จำนวน 300,000 โดสซึ่งส่งมาถึงแคนาดาในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพของวัคซีนดังกล่าว

กระทรวงฯระบุในแถลงการณ์ว่า "กระทรวงสาธารณสุขของแคนาดาจะไม่แจกจ่ายวัคซีนดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อปกป้องด้านสุขภาพและความปลอดภัยให้กับชาวแคนาดา อันเนื่องมาจากความวิตกเกี่ยวกับคุณภาพของสารยา (drug substance) ที่ใช้ผลิตวัคซีนดังกล่าวที่โรงงานของบริษัทอีเมอร์เจนท์ ไบโอโซลูชั่นส์ อิงค์ในเมืองบัลติมอร์ รัฐแมรีแลนด์

สารยาที่ผลิตในโรงงานดังกล่าวได้ถูกใช้ในการผลิตวัคซีนล็อตนี้ของแจนเซ่นซึ่งเป็นบริษัทยาในเครือของ J&J

"สารยาดังกล่าวได้ถูกผลิตขึ้นในเวลาที่วัคซีนล็อตหนึ่งถูกปนเปื้อนด้วยส่วนประกอบของวัคซีนที่ต่างกัน ทางกระทรวงสาธารณสุขของแคนาดาไม่สามารถระบุได้ว่า การขนส่งวัคซีนของแจนเซ่นล็อตนี้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพที่เข้มงวดของทางกระทรวงหรือไม่" แถลงการณ์ระบุ

-- สำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์ว่า ทั่วโลกจะต้องการน้ำมันมากขึ้นจากกลุ่มโอเปกพลัส เนื่องจากความต้องการน้ำมันทั่วโลกจะเริ่มกลับสู่ระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในช่วงสิ้นปีหน้า โดยก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่สัปดาห์ IEA ระบุว่า จะต้องปรับลดการผลิตน้ำมันในระยะยาวเพื่อลดการปล่อยมลพิษ

"โอเปกพลัสจำเป็นต้องเพิ่มการผลิตน้ำมันเพื่อให้ตลาดโลกมีปริมาณน้ำมันที่เพียงพอ" IEA ระบุ และเสริมว่า ความต้องการน้ำมันที่เพิ่มขึ้นและนโยบายระยะสั้นของประเทศต่างๆนั้น ตรงกันข้ามกับการเรียกร้องของ IEA ก่อนหน้านี้ให้ยุติการลงทุนด้านการผลิตน้ำมัน, ก๊าซ และถ่านหินในรายงานที่เปิดเผยในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา

IEA ระบุในรายงานเรื่องน้ำมันรายเดือนว่า "ในปี 2565 กลุ่มโอเปกพลัสซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 24 ชาติที่นำโดยซาอุดีอาระเบียและรัสเซีย จะต้องปรับเพิ่มการผลิตน้ำมันดิบอีก 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ในเดือนก.ค. 2564-มี.ค. 2565"

-- จับตาข้อมูลเศรษฐกิจในวันนี้ โดยญี่ปุ่นและอียูเตรียมเปิดเผยการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย.

ส่วนในวันพรุ่งนี้ ธนาคารกลางออสเตรเลียเปิดเผยรายงานการประชุม, เยอรมนีเปิดเผยอัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ค., อังกฤษเปิดเผยอัตราว่างงานเดือนเม.ย. ทางด้านสหรัฐมีกำหนดเปิดเผยยอดค้าปลีกเดือนพ.ค., ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือนมิ.ย.จากเฟดนิวยอร์ก, ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนพ.ค., การผลิตภาคอุตสาหกรรมพ.ค. และดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนมิ.ย.จากสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ