World Today: ประเด็นข่าวต่างประเทศน่าติดตามวันนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 16, 2023 09:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันพุธ (15 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานะการเงินของธนาคารเครดิต สวิส ซึ่งความกังวลดังกล่าวได้บดบังกระแสคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ อย่างไรก็ดี ดัชนีดาวโจนส์ลดช่วงลบในช่วงท้ายตลาด หลังจากสื่อรายงานว่ารัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ได้จัดการประชุมเพื่อหาแนวทางสร้างเสถียรภาพการเงินของเครดิต สวิส

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 31,874.57 จุด ลดลง 280.83 จุด หรือ -0.87%

-- สำนักข่าวเทเลกราฟรายงานเมื่อวันพุธ (15 มี.ค.) ว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ได้จัดการประชุมฉุกเฉินร่วมกับธนาคารกลางและหน่วยกำกับดูแลด้านการเงินระหว่างประเทศ ท่ามกลางความวิตกกังวลที่เพิ่มสูงขึ้น หลังวิกฤตของธนาคารเครดิต สวิส จากสวิตเซอร์แลนด์ทวีความรุนแรง

ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวมีขึ้น หลังปัญหาเกี่ยวกับเครดิต สวิส ได้กระพือความวิตกกังวลเรื่องวิกฤตภาคธนาคาร ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดภาวะการเงินระหว่างประเทศแบบเป็นรายวัน หรือแม้กระทั่งรายชั่วโมง

-- สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐ (USGS) รายงานว่า เกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรง 7.1 แมกนิจูดที่หมู่เกาะเคอร์มาเด็ก (Kermadec Islands) ของประเทศนิวซีแลนด์ในวันนี้ (16 มี.ค.)

รายงานระบุว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้มีจุดศูนย์กลางลึกลงไปใต้ดินประมาณ 10 กิโลเมตร (6.21 ไมล์)

ขณะที่ ระบบเตือนภัยสึนามิของสหรัฐได้ออกประกาศเตือนภัยคลื่นยักษ์สึนามิจากผลพวงของเหตุแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดในนิวซีแลนด์

-- หน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินของสวิตเซอร์แลนด์ได้ให้คำมั่นว่าจะจัดหาสภาพคล่องเพื่อช่วยเหลือธนาคารเครดิต สวิส หลังจากราคาหุ้นเครดิต สวิส ทรุดตัวลงอย่างหนักในวันพุธ (15 มี.ค.)

ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ และ FINMA ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลตลาดการเงินของสวิตเซอร์แลนด์ได้พยายามหาทางบรรเทาความวิตกกังวลของนักลงทุนที่มีต่อสถานการณ์ของเครดิต สวิส โดยแถลงว่า ธนาคารเครดิต สวิส ยังคงมีฐานเงินทุนและสภาพคล่องที่ตรงตามข้อกำหนดของธนาคารในกลุ่มที่มีความสำคัญต่อระบบการเงิน (Systemically Important Banks) พร้อมกับยืนยันว่า ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์จะจัดหาสภาพคล่องให้กับเครดิต สวิส หากพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเป็น

-- สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐเพิ่มขึ้น 1.6 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้นเพียง 100,000 บาร์เรล

EIA ยังเปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบที่เมืองคูชิง รัฐโอกลาโฮมา ซึ่งเป็นจุดส่งมอบสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าของสหรัฐ ลดลง 1.9 ล้านบาร์เรล

-- สมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) ของสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านปรับตัวขึ้น 2 จุด สู่ระดับ 44 ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน

ดัชนีสถานะยอดขายปัจจุบันปรับตัวขึ้นในเดือนมี.ค. สวนทางดัชนีคาดการณ์ยอดขายช่วง 6 เดือนข้างหน้าที่ปรับตัวลง

-- นักลงทุนคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ และจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยรวม 1% ภายในสิ้นปีนี้ หลังพบว่าวิกฤตธนาคารได้ลุกลามจากสหรัฐไปยังยุโรป

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 52.0% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.50-4.75% ในการประชุมวันที่ 21-22 มี.ค. และให้น้ำหนักเพียง 48.0% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25%

-- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกลดลง 0.4% ในเดือนก.พ. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลง 0.3% หลังจากพุ่งขึ้น 3.2% ในเดือนม.ค.

ยอดค้าปลีกเดือนก.พ.ได้รับผลกระทบจากการลดลงของยอดขายรถยนต์

-- กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ประจำเดือนก.พ.เมื่อคืนที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ดัชนี PPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 4.6% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายปี โดยชะลอตัวจากระดับ 5.7% ในเดือนม.ค.

-- ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญในวันนี้ ญี่ปุ่นมีกำหนดเปิดเผยยอดนำเข้า ยอดส่งออก และดุลการค้าเดือนก.พ., ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรเดือนม.ค. และการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนม.ค., ออสเตรเลียจะเปิดเผยอัตราว่างงานเดือนก.พ., ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) มีกำหนดแถลงมติอัตราดอกเบี้ย, สหรัฐจะเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนก.พ., ดัชนีการผลิตเดือนมี.ค.จากเฟดฟิลาเดลเฟีย และราคานำเข้า-ราคาส่งออกเดือนก.พ. และธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีกำหนดแถลงมติอัตราดอกเบี้ย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ