กูรูฟันธง "เฟิร์สท์ รีพับลิค แบงก์" ไปไม่รอด แม้ได้เงินแบงก์ใหญ่ต่อลมหายใจ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 17, 2023 22:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า แม้ธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิค แบงก์ (First Republic Bank) หรือ FRB ได้รับเงินอัดฉีดในรูปเงินฝากจากธนาคารรายใหญ่วานนี้ แต่มาตรการดังกล่าวจะช่วยพยุงฐานะการเงินของทางธนาคารได้เพียงชั่วคราว ก่อนที่จะต้องขายกิจการในที่สุด

"แม้ว่าเงินฝากดังกล่าวได้ช่วยคลายความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ของ FRB แต่ทางธนาคารก็ยังคงต้องจ่ายดอกเบี้ยสำหรับเงินฝากดังกล่าว ซึ่งคิดในอัตราปัจจุบัน และจะส่งผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยของธนาคาร และเนื่องจาก FRB มีสถานะการเงินที่ย่ำแย่ ทางธนาคารก็อาจจะต้องพิจารณาการขายกิจการในที่สุด" นายอาร์ต โฮแกน หัวหน้านักวิเคราะห์ตลาดของบริษัท B. Riley Wealth Management กล่าว

ทั้งนี้ FRB ได้รับการก่อตั้งในปี 2528 โดยมีสินทรัพย์จำนวน 2.12 แสนล้านดอลลาร์ และเงินฝาก 1.764 แสนล้านดอลลาร์ ณ วันที่ 31 ธ.ค.2565

นอกจากนี้ FRB ได้ทำการกู้ยืมเงินจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จำนวน 1.09 แสนล้านดอลลาร์ในระหว่างวันที่ 10-15 มี.ค.

สื่อรายงานว่า มีผู้อยู่เบื้องหลังหลายรายในการโน้มน้าวให้ธนาคารรายใหญ่ของสหรัฐอัดฉีดเม็ดเงินรวมกันถึง 3 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 1 ล้านล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ FRB

ทั้งนี้ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำข้อตกลงดังกล่าว ได้แก่ นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด และนายเจมี ไดมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเจพีมอร์แกน เชส ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐ

ตามข้อตกลงดังกล่าว ธนาคารขนาดใหญ่ในวอลล์สตรีทจะฝากเงินใน FRB เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ทางธนาคาร โดยแบงก์ ออฟ อเมริกา, เวลส์ ฟาร์โก, ซิตี้กรุ๊ป และเจพีมอร์แกน จะฝากเงินใน FRB รายละ 5 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่โกลด์แมน แซคส์ และมอร์แกน สแตนลีย์ จะฝากเงินรายละ 2.5 พันล้านดอลลาร์ ส่วนธนาคารทรูอิสต์ ไฟแนนเชียล, พีเอ็นซี, ยูเอส แบงคอร์ป, สเตทสตรีท และแบงก์ ออฟ นิวยอร์ก เมลลอน จะฝากเงินใน FRB รายละ 1 พันล้านดอลลาร์

"การที่ธนาคารรายใหญ่ของสหรัฐพร้อมใจกันอัดฉีดเงินรวมกัน 3 หมื่นล้านดอลลาร์ในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่าทางธนาคารมีความเชื่อมั่นต่อ FRB และต่อธนาคารทุกขนาด รวมทั้งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะช่วยให้ธนาคารต่างๆ สามารถให้บริการแก่ลูกค้าต่อไป" ธนาคารรายใหญ่ของวอลล์สตรีทระบุในแถลงการณ์

อย่างไรก็ดี แม้ว่าข้อตกลงดังกล่าวได้ช่วยคลายความกังวลในตลาด และทำให้ราคาหุ้น FRB ดีดตัวขึ้นวานนี้ แต่นักลงทุนได้กลับมาเทขายหุ้นดังกล่าวจนดิ่งลง 20% ในวันนี้ และฉุดให้หุ้นในกลุ่มธนาคารร่วงลงตามกัน

ทั้งนี้ FRB เป็นธนาคารที่มีปริมาณเงินฝากที่ไม่ได้รับการค้ำประกันจากรัฐบาลสหรัฐสูงสุดเป็นอันดับ 3 รองจากซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ และซิกเนเจอร์ แบงก์ ซึ่งถูกปิดกิจการไปก่อนหน้านี้ ส่งผลให้ลูกค้าจำนวนมากพากันโยกย้ายเงินฝากออกจาก FRB ไปยังธนาคารขนาดใหญ่

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ