เมียนมารีดภาษีแรงงานในต่างประเทศ วิตกนำเงินหนุนรัฐบาลทหาร

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 8, 2024 10:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักข่าวนิกเกอิ เอเชียรายงานว่า เมียนมาได้เริ่มเรียกเก็บภาษีชาวเมียนมาที่ทำงานในต่างประเทศเพื่อกระตุ้นให้สกุลเงินต่างประเทศไหลเข้าเมียนมา ขณะที่ บรรดานายจ้างวิตกกังวลว่าภาษีดังกล่าวอาจถูกนำไปสนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมาทางอ้อม

นับตั้งแต่กลางเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว สถานเอกอัครราชทูตเมียนมาในหลายประเทศในทวีปเอเชียได้ประกาศกฎระเบียบภาษีใหม่สำหรับชาวเมียนมาที่อาศัยในขอบเขตอำนาจของตน

รายงานระบุว่า ชาวเมียนมาในญี่ปุ่นขณะนี้ต้องจ่ายภาษีเงินได้ขั้นพื้นฐาน 2% โดยอัตราการเรียกเก็บภาษีนั้นขึ้นอยู่กับประเภทของรายได้ ส่วนชาวเมียนมาในเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไทย และมาเลเซียก็เผชิญภาษีเงินได้ 2% เช่นเดียวกัน แม้อัตราภาษีเงินได้ที่แต่ละคนจะถูกเรียกเก็บจริง ๆ นั้นจะขึ้นอยู่กับสถานะการพำนักและระดับของรายได้

หากชาวเมียนมารายใดไม่ยอมเสียภาษีเงินได้ดังกล่าวก็มีแนวโน้มจะเผชิญปัญหาตอนต่ออายุหนังสือเดินทาง โดยภายใต้การปฏิรูปภาษีประจำปีการคลัง 2566 เมียนมาได้เริ่มกำหนดให้ชาวเมียนมาที่พำนักอยู่ในต่างประเทศจ่ายภาษีเงินได้ตามสกุลเงินที่ได้รับจากนายจ้างในประเทศนั้น ๆ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ปีที่ผ่านมา แต่ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดอื่นใดเพิ่มเติม

แม้เงินที่ผู้จ่ายภาษีแต่ละรายต้องชำระนั้นไม่ใช่เงินจำนวนมาก โดยชาวเมียนมาในญี่ปุ่นบางรายอาจจ่ายภาษีเงินได้เพียง 1,000 เยน (7 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อเดือนหลังหักเครดิตภาษี แต่เมื่อรวมกันแล้วเมียนมาจะได้เงินภาษีเพิ่มขึ้นก้อนโต โดยขึ้นอยู่กับว่าเมียนมาสามารถบังคับใช้แผนเก็บภาษีใหม่ได้ทั่วถึงเพียงใด โดยสำนักข่าวอิรวดีประเมินว่า ปัจจุบันมีแรงงานเมียนมาที่มีเอกสารอย่างน้อย 2 ล้านคนทำงานในประเทศไทย ซึ่งหมายความว่ารัฐบาลทหารเมียนมาจะได้รับเงินภาษี 300 ล้านบาท (8.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ต่อเดือน

กรณีดังกล่าวส่งผลให้ธุรกิจบางส่วนวิตกว่า การจ้างชาวเมียนมาทำงานอาจทำให้ถูกมองว่าเป็นการสนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมา โดยหลังจากกองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารในเดือนก.พ. 2564 บรรดาผู้เชี่ยวชาญและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนแสดงความกังวลว่า ภาษีที่จ่ายโดยกลุ่มธุรกิจและแรงงานในเมียนมาอาจถูกนำไปเป็นเงินทุนของกองทัพเมียนมา ซึ่งถูกนำไปใช้ในการกวาดล้างฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยและการทารุณกรรมอื่น ๆ


แท็ก เอเชีย  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ