คริปโทฯ ผิดกฎหมายกว่า 60% ของปี 2566 มีเอี่ยวองค์กรที่ถูกคว่ำบาตร-กลุ่มก่อการร้าย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 1, 2024 09:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เชนอนาไลซิส (Chainalysis) บริษัทข้อมูลและซอฟต์แวร์ของสหรัฐ เปิดเผยว่า องค์กรต่าง ๆ ที่ถูกคว่ำบาตรเนื่องจากมีส่วนพัวพันกับกลุ่มแฮกเกอร์เกาหลีเหนือ และองค์กรต่าง ๆ ที่สหรัฐกำหนดให้เป็นองค์กรก่อการร้าย อาทิ กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน ยังคงพึ่งพาคริปโทเคอร์เรนซีในการระดมทุน

รายงาน "2024 Crypto Crime Report" ของเชนอนาไลซิส เปิดเผยว่า มีคริปโทเคอร์เรนซีผิดกฎหมายมูลค่า 2.42 หมื่นล้านดอลลาร์ที่ถูกถ่ายโอนในปี 2566

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า แม้ตัวเลขของเมื่อปี 2566 จะน้อยกว่าเมื่อปีก่อนหน้าก็ตาม แต่เชนอนาไลซิสระบุว่า เงินทุนถูกจัดสรรไปยังองค์กรที่ถูกคว่ำบาตรและองค์กรที่มีส่วนเชื่อมโยงกับการก่อการร้ายในสัดส่วนที่สูงขึ้น โดยคิดเป็นราว 61.5% ของปริมาณการทำธุรกรรมผิดกฎหมายทั้งหมดในปี 2566

นายแอนดรูว์ ไฟเออร์แมน หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การคว่ำบาตรของเชนอนาไลซิส กล่าวเมื่อวานนี้ (29 ก.พ.) ว่า "องค์กรที่ถูกคว่ำบาตรมักถูกตัดออกจากระบบการเงินสากลแบบดั้งเดิม และคริปโทเคอร์เรนซีสามารถกลายเป็นกลไกทางเลือกในการจัดเก็บ ถ่ายโอน และรับเงินทุนได้"

นอกจากนี้ องค์กรต่าง ๆ เช่น ทอร์นาโด แคช (Tornado Cash) และการันเท็กซ์ (Garantex) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านคริปโทเคอร์เรนซียอดนิยมที่อนุญาตให้ผู้ใช้งานสามารถปิดบังการทำธุรกรรมได้ มีส่วนในเงินทุนผิดกฎหมายมากที่สุดในปี 2566 โดยทอร์นาโด แคช ถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐในเดือนส.ค. 2565 หลังพบว่าลาซารัส กรุ๊ป กลุ่มแฮกเกอร์ของเกาหลีเหนือใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มในการฟอกเงิน ขณะที่ การันเท็กซ์ ซึ่งเป็นองค์กรของรัสเซีย ถูกคว่ำบาตรในเดือนเม.ย. 2565 จากการมีเอี่ยวกับองค์กรผิดกฎหมาย รวมถึง กลุ่มซอฟต์แวร์เรียกค่าไถ่ (ransomware)

ทั้งนี้ จำนวนคริปโทเคอร์เรนซีที่ถูกโอนไปยังองค์กรที่ถูกคว่ำบาตรมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สอดรับกับข้อจำกัดทางการค้าใหม่ ๆ ที่มุ่งเป้ามายังวอลเล็ตคริปโทฯ โดยเฉพาะ ซึ่งรายการคว่ำบาตรใหม่ ๆ ของสหรัฐนั้นครอบคลุมวอลเล็ตคริปโทฯ ที่เกี่ยวข้องด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ